เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 65 เวลา 15.00 น. ที่ร้าน Thorr Cafe ตำบลรัตนวารี อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นางรัชชุมา บุตรโพธิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เยี่ยมชมงานหัตถกรรมจากเสื่อกกที่ได้รับการพัฒนาเป็นสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โดยมี คุณอุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Thorr’s และคุณธนิดา คุณณัฐณิชา เจ้าของแบรนด์นุชบาผ้าขาวม้า ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ คุณอุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Thorr นำ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ เยี่ยมชมผลงานผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหัตถศิลป์ อาทิ ผลิตภัณฑ์เสื่อ มวยนึ่งข้าวเหนียว กระเป๋า ตะกร้า และของแต่งบ้านที่พัฒนามาจากเสื่อกก และชมการผลิตงานหัตถกรรมภายในบริเวณร้าน Thorr’s
คุณอุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ กล่าวว่า Thorr’s มีที่มาจากคำว่า “ถักทอ” ที่เกิดขึ้นจากทุกอย่างในชีวิตที่ได้เรียนรู้มา ไม่ได้เกิดจากความรัก Passion หรือ ความหลงใหล หรือความรู้อย่างเดียว การได้ริเริ่มสร้างสรรค์ Thorr’s เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในที่จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมแล้วมีโอกาสไปฝึกงานโรงไหมที่จังหวัดเชียงใหม่ ผสานกับปัจจัยต้นทุนเดิม คือ ต้นทุนทางวัฒนธรรมและต้นทุนของความเป็นตัวเอง โดยทุกครั้งที่กลับบ้านที่อำนาจเจริญ ก็จะมีความชอบในวัฒนธรรมงานฝีมือ (Crafts) ชอบคุยกับคนเฒ่าคนแก่ และเกิดแรงบันดาลใจจากการได้เห็น “เสื่อกก” ที่มีรูปแบบเหมือนเดิมตั้งแต่เด็ก จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างแบรนด์ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดความร่วมสมัย และผลิตได้ง่ายขึ้น มีความเป็นธรรม เกิดประโยชน์ทั้งกับชาวบ้านผู้ผลิตและตัวเราเองในฐานะเจ้าของแบรนด์ที่ร่วมพัฒนา
“อิ๋งขอร้องให้คนรู้จักในหมู่บ้านได้ช่วยทอเสื่อกกให้เลือกลายเสื่อที่พัฒนาได้ เริ่มต้นที่นำผลิตภัณฑ์ออกแสดงผลงานทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นอยากให้กลุ่มลูกค้าหรือผู้สนใจรู้สึกว่าผลงานแต่ละชิ้นสามารถใช้งานได้จริง สวย สมเหตุสมผล เพราะมากกว่าการสร้างการรับรู้ คือ การสร้างความสุขใจทั้งคนทอและคนรับ ซึ่งนับถึงปัจจุบัน Thorr’s มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีเครือข่ายผู้ผลิต คือ ช่างทอประมาณ 30-40 คน ที่ทุกคนทำงานอยู่ที่บ้านของเขา ในท้องถิ่นบ้านเกิดตัวเองหลาย ๆ จังหวัด ซึ่งการทำงานกับชาวบ้าน คือ ต้องใช้ทักษะการทำงานของผู้นำและคนทำงานยุคใหม่ (Soft Skills) ทั้งต้องเข้าอกเข้าใจกัน ให้โอกาส มีกฎระเบียบบางอย่างที่ต่างฝ่ายต่างรับได้ร่วมกัน และที่สำคัญที่สุด คือ แสดงเจตนาที่แท้จริงว่าไม่มีใครเอาเปรียบใคร เพราะถ้าไม่มีชาวบ้านก็ไม่มี Thorr’s จึงเกิดประโยชน์ทั้งกับชาวบ้าน และ Thorr’s อย่างแท้จริง แล้วทุกอย่างก็จะเกิดความยั่งยืน” คุณอุ๋งอิ๋ง กล่าวความรู้สึก
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า Thorr’s และนุชบาผ้าขาวม้า เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวอำนาจเจริญที่เป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอำนาจเจริญ และพวกเราชาวมหาดไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้มีภาคีเครือข่ายสำคัญในการต่อยอดผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์หัตถกรรมงานฝีมือ (Crafts) อันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้ได้รับการพัฒนา ออกจำหน่ายสู่ตลาดในระดับโลก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าพี่น้องประชาชนสามารถที่จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้กับครอบครัว ชุมชนได้ ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันจับมือสร้างสรรค์ และพัฒนาฝีไม้ลายมือของคนรุ่นเก่าผสมผสานเข้ากับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ให้เกิดเป็นความร่วมสมัยที่ลงตัว
“การที่คุณอุ๋งอิ๋งได้ใช้ความรู้ความสามารถจากการเรียนรู้จากการศึกษาเล่าเรียนและจากต้นทุนเดิมของชีวิต คือ วิถีความเป็นเด็กต่างจังหวัดที่สัมผัส คุ้นเคย จนหลงใหลในงานหัตถศิลป์หัตถกรรมของบ้านเกิดแล้วกลับมาตอบแทนบุญคุณบ้านเกิด ช่วยเหลือชาวบ้าน ด้วยการชักชวนกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ที่มีพรสวรรค์ในด้านงานหัตถศิลป์หัตถกรรมทั้งในจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีลวดลาย รูปแบบทันสมัยระดับอินเตอร์ สามารถส่งออก จำหน่ายให้กับผู้ที่ชื่นชอบงานศิลป์ได้ซื้อหานำไปตกแต่งบ้านเรือน นำไปใช้สอย นับเป็น “ต้นแบบ” ของผู้ประกอบการที่เกื้อกูลเกื้อหนุนซึ่งกันและกันกับผู้ผลิตงานหัตถศิลป์หัตถกรรม ที่กระทรวงมหาดไทย จะได้ขยายผลต่อไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฟ้นหากลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ที่มีความเข้มแข็ง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้ช่วยเป็นหัวขบวนรถจักรฉุดลากดึงศักยภาพพี่น้องผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งผลิตงานหัตถศิลป์หัตถกรรมดั้งเดิมอยู่แล้ว ให้ได้พัฒนารูปแบบให้ทันสมัย ถูกอกถูกใจผู้บริโภค ยกระดับรูปแบบสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น ในลักษณะเกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจนำสัญลักษณ์หรือแบรนด์ของผู้พัฒนารูปแบบมาใช้ในการติดสินค้าควบคู่กับแบรนด์ดั้งเดิมในลักษณะคู่มิตร อันจะทำให้ทั้งแฟนคลับเดิมและผู้ที่ชื่นชอบได้เลือกซื้อเลือกหามากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในด้านความยั่งยืน Thorr’s จะเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญในการมีส่วนร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ลงไปช่วยพัฒนาทักษะฝีมือของพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือคนยากจนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นมีทักษะในการทำ “มวยนึ่งข้าวเหนียว” ซึ่งภาคราชการได้ลงไปแก้ไขปัญหาช่วยทำให้อยู่รอดแล้ว ด้วยการศึกษาวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่เป็นเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาล ได้มีองค์ความรู้ในการพัฒนาต่อยอดผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีเยี่ยม หลากหลาย อันจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่ม รวมทั้งมีช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญ จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้มรดกภูมิปัญญานี้ได้รับการสืบสานต่อสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน เพื่อเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองในอนาคต ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ทำให้พวกเราชาวมหาดไทยและกรมการพัฒนาชุมชนได้มาเยี่ยม มาพบปะ “ต้นแบบ” คือ คุณอุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Thorr’s และคุณธนิดา คุณณัฐณิชา เจ้าของแบรนด์นุชบาผ้าขาวม้า อันเป็นกัลยาณมิตร เป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญในการช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ให้ได้รับการต่อยอดความคิด ทั้งทักษะ แนวคิด รูปแบบ ลวดลาย ช่องทางการตลาด หรืออาจเรียกว่า ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีความเข้มแข็ง และกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะได้นำตัวแบบ Thorr’s Model นี้ไปขับเคลื่อนขยายผลเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้มแข็งเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มที่ยังต้องได้รับการพัฒนาให้มีจำนวนมากขึ้นในทุกภูมิภาค เพื่อยังผลให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศให้ได้มีผลงานที่มาตรฐาน มีแบรนด์ที่เข้มแข็ง ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 173/2565 วันที่ 21 พ.ค. 2565