เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 จังหวัดสุรินทร์ ได้มีหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา เรื่อง ขอความช่วยเหลือคนไทยถูกชาวจีนหลอกมาทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจังหวัดสุรินทร์ได้รับคำร้องจากชายไทยว่าถูกชาวจีนหลอกมาทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งถูกกักขังอยู่บริเวณชายแดนกัมพูชา ตรงกันข้ามกับด่านช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ พิกัดใกล้คาสิโนโอสเม็ด จำนวน 3 ราย ได้แก่ (1) นายจีรนันท์ ประสบนิล (2) นายณัฐวุฒิ กาบแก้ว และ (3) นายสุรเชษฐ์ กาบแก้ว ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้แจ้งหนังสือมายังจังหวัดอุดรมีชัย เพื่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือคนไทยทั้ง 3 ราย ซึ่งถูกชาวจีนหลอกมาทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ล่าสุด พ.ต.อ.สำราญ กลั่นมา ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสุรินทร์ แจ้งมาว่าจากการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัยและตำรวจกัมพูชา ปรากฏว่าวานนี้ (3 สิงหาคม 2565) สามารถจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามพิกัดในเขตกัมพูชาฝั่งตรงข้ามกับจังหวัดสุรินทร์ โดยได้ผู้ต้องหาเป็นชาวจีน จำนวน 2 ราย และให้การช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานได้แล้วทั้ง 3 คน ซึ่งได้ส่งผู้ต้องหาไปดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการเข้าจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายชาวไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เนื่องด้วย “การค้ามนุษย์” นั้น ถือเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติและภาพลักษณ์ของประเทศไทย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักถึงภัยอันตรายของการค้ามนุษย์ โดยได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ซึ่งการดำเนินการมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านความมั่นคง ที่มีเป้าหมายให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยมีกลไกในการบริหารจัดการภัยคุกคามทุกรูปแบบในทุกมิติแบบองค์รวม พร้อมกันนี้ ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ได้คิดหาวิธีการหลอกลวง นำพา และกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ทั้งการค้าประเวณีออนไลน์ การหลอกลวงเด็ก เยาวชน และผู้หญิง ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อผลิตสื่อลามกอนาจาร รวมทั้งการหลอกลวงโฆษณาจัดหางานออนไลน์ เพื่อชักชวนคนไทยให้ไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องบูรณาการการทำงานในทุกมิติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตลอดจนปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลก โดยพัฒนาทั้งด้านการดำเนินคดี การป้องกัน และการคุ้มครอง ที่เน้นการดำเนินงานที่ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล มีความเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้คนไทยทุกคนตระหนักว่าการค้ามนุษย์เป็นภัยใกล้ตัว และไม่เข้าร่วมหรือสนับสนุนขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ตลอดจนทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันผนึกกำลัง ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายทางสังคมในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐด้วย
ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ โดยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กำชับและให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ด้วยการเข้มงวดในประเด็นด้านการข่าว การสืบหาข่าวสารสำคัญในพื้นที่ การติดตามและประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ภายในจังหวัดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานประมง และเน้นย้ำกำชับไม่ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกระดับเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และให้ดำเนินงานในเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ และสอดคล้องกับแนวนโยบายที่เกี่ยวข้อง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 286/2565 วันที่ 4 ส.ค. 2565