เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นโยบายการทำสงครามกับยาเสพติด นอกจากในด้านการป้องกันเเละปราบปรามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการค้ายาเสพติดแล้ว ในด้านการค้นหาผู้เสพซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงจรยาเสพติดก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งในขณะนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ทำการ Re X-Ray อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสอบทานยืนยันว่าไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอยู่ โดยเฉพาะในลำดับแรก ทุกส่วนราชการจะต้องตรวจสอบคนของตนเองก่อนที่จะไปตรวจผู้อื่น ต้องกวาดบ้านตนเองให้สะอาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ให้สุ่มตรวจสถานที่เสี่ยงที่จะมีโอกาสเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น โรงเรียน สถานบันเทิง สถานประกอบการต่างๆ หรือหมู่บ้าน/ชุมชนเป้าหมาย ซึ่งทุกพื้นที่ได้ดำเนินการอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง โดยขอนำตัวอย่างที่เเต่ละจังหวัดมาอธิบายรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
1. จังหวัดอุดรธานี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ ศอ.ปส.จ. และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติดในสถานที่ราชการ และตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดให้กับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในบุคลากรและสถานที่ราชการของรัฐ โดยดำเนินการดังนี้ 1. บ้านอุดรธานี (สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า) จำนวน 54 คน 2. สถานธนานุเคราะห์ 38 อุดรธานี จำนวน 6 คน 3. นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จำนวน 13 คน 4. บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดอุดรธานี จำนวน 13 คน 5. ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดอุดรธานี จำนวน 9 คน 6. สำนักงานการเคหะจังหวัดอุดรธานี จำนวน 6 คน ซึ่งรวมทั้งสิ้น 101 คน ผลการตรวจไม่พบผู้มีสารเสพติดในปัสสาวะแต่อย่างใด
2. จังหวัดกำเเพงเพชร นายธีรศักดิ์ ลิขิต นายอำเภอคลองลาน/ผอ.ศป.ปส.อ.คลองลาน มอบหมายให้ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วยสมาชิก อส. ดำเนินการ ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. และชุด ชรบ ม.7 ต.สักงาม อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยยาเสพติดแก่นักเรียนระดับชั้น ป.4-ม.3 โรงเรียนบ้านคลองแขยงวิทยา (ขยายโอกาส) จำนวน 92 คน พร้อมทั้งสุ่มตรวจปัสสาวะกลุ่มเสี่ยง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาผลการปฏิบัติ ไม่พบผู้มีสารเสพติดในร่างกายแต่อย่างใด
3. จังหวัดอุตรดิตถ์ นายจักรี สโมสร นายอำเภอน้ำปาด/ผอ.ศป.ปส.อ.น้ำปาด มอบหมายให้ นายทวีศักดิ์ พุ่มมรดก ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง พร้อมชุดปฏิบัติการกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอน้ำปาดที่ 4 ร่วมกับ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลน้ำปาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอน้ำปาด เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรน้ำปาด ติด.316 ดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนงานยาเสพติด ตามนโยบายจังหวัดอุตรดิตถ์ “เมืองสงบ มั่นคง ปลอดภัย” และกิจกรรมเดือนแห่งการรณรงค์ค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ดำเนินการสุ่มตรวจปัสสาวะ นักเรียน โรงเรียนสหคริสเตียนจำนวน 112 คน ปรากฏว่าผลการตรวจปัสสาวะไม่พบสารเสพติดทุกราย
4. จังหวัดบุรีรัมย์ นายเกรียงศักดิ์ สมจิต นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ มอบหมายให้ นายอุกฤษฎ์ หงษ์ไธสง ปลัดอำเภอ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง นายทนนท์ เม็นไธสง ปลัดอำเภอ นางปิยาภรณ์ มีภักดี ปลัดอำเภอ พร้อมสมาชิก อส. ร้อย อส.อ.เมืองบุรีรัมย์ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุข อ.เมืองบุรีรัมย์ และสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองหาสารเสพติดให้กับพนักงานของบริษัท โตโยต้า บุรีรัมย์ จำกัด จำนวน 75 คน เพื่อเป็นการป้องกันเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ ผลการปฏิบัติ ไม่พบผู้มีสารเสพติดเช่นกัน
5. จังหวัดสกลนคร นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ สั่งการให้ ที่ทำการปกครองจังหวัดสกลนคร และกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสกลนครที่ 1 ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร/สถานีตำรวจภูธรเมืองสกลนคร/ ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองสกลนคร และสาธารณสุขอำเภอเมืองสกลนคร ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการ “สกลนคร 90 วัน ปราบปรามผู้ค้า ค้นหาผู้ติด เป็นมิตรกับชุมชน” โดยได้ทำการร่วมกันออกตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ พนักงานร้าน และนักท่องเที่ยว ในสถานบริการ สถานประกอบการคล้ายกับสถานบริการ ได้แก่ ร้านฟิกซ์คลับ จำนวนผู้ตรวจเป็นพนักงานร้านและนักท่องเที่ยว รวม 39 ราย ไม่พบสารเสพติดในร่างกายแต่อย่างใด พร้อมทั้งได้ออกตรวจเข้มงวดเกี่ยวกับมาตรการ ตาม พรบ.สถานบริการฯ คำสั่ง คสช.ที่22/2558 พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวม 5 ร้าน ได้แก่ ร้านเพื่อน ร้านวันดีดี ร้านรสนิยม ร้านอินบ็อก และร้านจีบาร์ ซึ่งไม่พบการกระทำความผิดเเต่อย่างใด นอกจากนี้ นายบรรลือ สัมฤทธิ์จินตนา นายอำเภอพังโคน ได้มอบหมายให้ นายสุชาติ รังสินารา ปลัดอาวุโส นายเสถียร ถวายชัย ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง พร้อมสมาชิก อส. ออกตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดและตรวจพื้นที่เสี่ยงเพื่อค้นหาผู้เสพ/ผู้ติด ณ บ้านหนองไฮใหญ่ หมู่ที่ 3 ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นหมู่บ้านเป้าหมายตามโครงการ “ปฏิบัติการสกลนคร 90 วัน ปราบปรามผู้ค้า ค้นหาผู้ติด เป็นมิตรกับชุมชน” ผลการตรวจพบผู้เสพจำนวน 5 รายจึงได้บันทึกข้อมูลเพื่อนำเข้าบำบัดรักษาตามระบบ
6. จังหวัดมหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม/ผอ.ศอ.ปส.จ.มค. มอบหมายให้ ศอ.ปส.จ.มค. บูรณาการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการตรวจสอบบุคลากรโดยการสุ่มตรวจหาสารเสพติดในร่างกายบุคลากรในหน่วยงานสำนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม ตามหนังสือร้องขอฯ จำนวน 78 ราย และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมหาสารคาม ตามหนังสือร้องขอฯ จำนวน 42 ราย รวมทั้งสิ้น 120 คน ตามนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย แผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และปฏิบัติการเชิงรุกตาม “ยุทธการเมืองมหาสารคามเมืองปลอดภัยยาเสพติด” ยุทธการที่ 3. ยุทธการกวาดบ้าน/ล้างบ้าน ผลการดำเนินการไม่พบสารเสพติดในร่ายกายแต่อย่างใด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า จากตัวอย่างที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ จะเห็นได้ว่า หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ไม่ได้นิ่งนอนใจกับนโยบายการทำสงครามกับยาเสพติดในส่วนของหลังบ้านเเต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกวาดบ้านตัวเองให้สะอาด เพื่อพร้อมทำการ Re X-Ray ในพื้นที่เพื่อนำตัวการผู้กระทำความผิดเเละผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดทั้งขบวนการมาดำเนินคดีตามกฎหมาย นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้กลไกทางสังคมบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด หรือผู้ป่วยจิตเวช ยังคงต้องอาศัยการสร้างการรับรู้ให้เเก่พี่น้องประชาชนเเละคนในชุมชมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการให้โอกาสผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา และการฟื้นฟู ได้มีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งยาเสพติด ซึ่งกำลังใจเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้คนเหล่านี้ กลับตัวกลับใจเป็นคนดีของสังคมได้อย่างยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญของชุมชนที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เเก่ เด็ก เยาวชน รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ ทั้งนี้ หากพบเบาะเเสที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือ ต้องการเเจ้งนำตัวผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาด้วยความสมัครใจ สามารถโทรศัพท์เพื่อเเจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย โทรสายด่วน 1567 หรือสามารถเดินทางไปเเจ้งเบาะเเสด้วยตนเองได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง หรือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัด หรือศูนย์บริการประชาชนอื่น ๆ ที่มีการจัดกิจกรรม “ศูนย์ดำรงธรรม เคลื่อนที่” ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถไว้ใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของท่านจะถูกคุ้มครองอย่างปลอดภัย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 551/2565 วันที่ 21 พ.ย.2656