เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เปิดปฏิบัติการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเร่งด่วน 3 เดือน โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมพิธีเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 65 ที่ผ่านมานี้ จุดเน้นของปฏิบัติการ มีด้วยกัน 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การตรวจสอบ ควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ที่นำไปใช้ในการผลิตยาเสพติด 2. การสืบสวน ขยายผล ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน มีเป้าหมาย 1,000 เครือข่าย มูลค่า 100,000 ล้านบาท โดยยึดได้แล้ว 6,879 ล้านบาท 3. การจัดตั้งศูนย์กลางบูรณาการข้อมูลด้านยาเสพติดแห่งชาติ โดย ป.ป.ส. ได้ร่วมกับหน่วยงานบูรณาการ เพื่อประสานเชื่อมโยงและบูรณาการ แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน 4. การตรวจสอบติดตามและดำเนินการตามข้อร้องเรียนของประชาชน 5. การค้นหา คัดกรอง ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดและผู้มีอาการทางจิตเวช จากการใช้ยาเสพติด เพื่อนำเข้าสู่การบำบัดรักษา โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย 6. การลดความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน มุ่งเน้นการดำเนินงานในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน เพิ่มบทบาทหมู่บ้าน/ชุมชนและผู้นำในพื้นที่ให้เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันปัญหายาเสพติด และ 7. การจัดการปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร “หนองบัวลำภูต้นแบบจังหวัดสีขาวปลอดยาเสพติด” สร้างต้นแบบในการจัดการปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้นำข้อสั่งการไปเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองแล้ว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า สำหรับปฏิบัติการในด้านการติดตามกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อมุ่งลด Demand และ Supply ของยาเสพติด โดยมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ หน่วยงานด้านสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคประชาชน ในการให้ความช่วยเหลือ คอยสอดส่องดูแล และแจ้งเบาะแสรวมถึงการให้โอกาสผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษา ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่สังคม และประกอบสัมมาชีพสุจริต ซึ่งในวันนี้ ขอนำตัวอย่างการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติด จึงมาอรรถาธิบายเล่าสู่กันฟังให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ เพื่อคอยย้ำเตือนบุตรหลาน หรือ กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีโอกาสเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้มีภูมิคุ้มกัน และได้รับการย้ำเตือนก่อนที่จะเข้าไปพัวพัน โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
1.จังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายเริงศักดิ์ เกตุจันทึก ผบ.เรือนจำศรีสะเกษ พ.ต.อ.ศุภชัย ศักรินพานิชกุล รอง ผบก.ก.จว.ศรีสะเกษ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเครือข่ายคดียาเสพติดตามยุทธการพิมาตทรชนคนค้ายาอีสานใต้ ภ3 และ “238 พิทักษ์นครลำดวน ในห้วงระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม – 24 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งสามารถจับกุมนักค้าได้ 413 ราย เป็นผู้ต้องหา 427 คน พร้อมของกลางยาบ้า รวมจำนวน 230,923 เม็ด ไอซ์ 8.72 กรัม และสารระเหย 2 กระป๋อง โดยยึดทรัพย์สินนักค้าไว้ตรวจสอบ 5 ราย มูลค่ากว่า 2,878,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้สั่งการให้ทุกหน่วย เร่งรัดขยายผล และสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดเขตพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมระดมกวาดล้างยาเสพติดในทุกมิติ สกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดตามแนวพื้นที่ชั้นใน ดำเนินการปิดล้อมตรวจค้น และทำลายเครือข่ายตัดวงจรยาเสพคิดทุกระดับให้ต่อเนื่องและจริงจัง ตามยุทธการ ” พิฆาตทรชนคนค้ายาอีสานใต้ ” ประกอบกับ “ยุทธการ 238 พิทักษ์นครลำดวน” ของ จังหวัดศรีสะเกษ
2.จังหวัดเชียงใหม่ พ.ท.ต่อพงษ์ ชำนาญอาสา หัวหน้า บก.ควบคุมที่ 2 ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศอ.ปส.ชน.) ได้นำกำลังออกไปตั้งจุดตรวจจุดสกัดบริเวณเส้นทางเชื่อมระหว่าง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ – อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พื้นที่หมู่บ้านปางปอย ต.แม่คะ อ.ฝาง ตามคำสั่ง พล.ต.จรัส ปัญญาดี รอง ผอ.ศอ.ปส.ชน. เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซู ตอนเดียว สีบรอนซ์เงิน ขับมาจากทาง อ.ฝาง มุ่งหน้าจะไปทาง อ.แม่สรวย เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นรถต้องสงสัยจอดรถห่างจากจุดตรวจจุดสกัดประมาณ 100 เมตร สักครู่ใหญ่ เจ้าหน้าที่จึงเรียกให้เข้ามาตรวจสอบ พบผู้ชายหนึ่งคนซึ่งเป็นคนขับรถมาตามลำพัง พร้อมตรวจค้นภายในรถ ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงได้นำกำลังไปตรวจสอบจุดที่รถคันดังกล่าว เคยจอดอยู่ก่อนถึงจุดตรวจจุดสกัด ปรากฏว่าพบถุงพลาสติกสีเขียวอยู่ข้างทาง 3 ใบ ภายในบรรจุยาบ้าใบละประมาณ 100,000 เม็ด รวมจำนวน 300,000 เม็ด จึงได้ประสานตำรวจ บก.ปส.3 บช.ปส. ทหารจาก บก.คปส.2 บก.ควบคุมที่ 2 ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง หน่วยข่าว ทบ. และฝ่ายปกครอง ร่วมกันตรวจยึดและจับกุมตัวชายคนขับรถ ตั้งข้อหาว่า “มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย” ก่อนนำตัวพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ดำเนินคดีตามกฎหมาย
3.จังหวัดสงขลา พ.อ.ฐนิตพนธ์ หงษ์วิไล ผบ.ฉก.ร.5 และนายสุรินทร์ สุริยวงศ์ นายอำเภอสะเดา พร้อมด้วยทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอสะเดา จ.สงขลา ร่วมกันปิดล้อมตรวจค้นบ้านเลขที่ 40/2 หมู่ 3 ต.เขามีเกียรติ อ.สะเดา จ.สงขลา หลังจากสืบทราบว่าลักลอบขายยาเสพติด ทั้งยาบ้าและไอซ์ให้กลุ่มวัยรุ่น และเยาวชน รวมถึงผู้ใช้แรงงานในหมู่บ้าน และจับกุม นายชานนท์ (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี หรือมด และ น.ส.จุฑาพร (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี หรือแอน พร้อมของกลางยาบ้ารวม 3,631 เม็ด ไอซ์ 0.64 กรัม นอกจากนี้ ยังพบอาวุธปืน .38 อีก 1 กระบอก เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวทั้ง 2 คนดำเนินคดีและทำการขยายผลต่อไป
4.จังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ต.ท.ธวัชชัย สุรินต๊ะ ผบ.ร้อย ตชด.336 มอบหมายให้ ร.ต.อ.สำเริง ชำนาญ รอง ผบ.ร้อย ตชด.336 พร้อมกำลังพลจำนวน 7 นาย ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเเม่ฮ่องสอน, เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแม่ฮ่องสอน, เจ้าหน้าที่ทหาร ชป.ข่าว กกล.นเรศวร, เจ้าหน้าที่ทหารร้อย ร.173 ได้ร่วมกันจับกุม 1.นางเอ (นามสมมุติ) อายุ 34 ปี และ 2.นาย บี (นามสมมุติ) อายุ 39 ปี พร้อมด้วยของกลาง 1.ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทเเอมเฟตามีน (ยาบ้า) จำนวน 199 เม็ด สีเขียว จำนวน 2 เม็ด รวม 201 เม็ด 2. โทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหา นางเอ (นามสมมุติ) ได้ที่หน้าเรือนจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นได้ขยายผลตามไปจับกุมตัว นายบี (นามสมมุติ) บริเวณหน้าบ้านพัก จากนั้นได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเเม่ฮ่องสอน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
5.จังหวัดสุพรรณบุรี พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7 นายปรีชา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พล.ต.ต.วรายุทธ สุขวัฒน์ รอง ผบช.ภ.7 พ.ต.อ.เชิดศักดิ์ เฉลียวศิลป์ รอง ผบก.ภ.จว.สุพรรณบุรี พร้อมด้วย พ.ต.อ.พีระ อัศวพิบูลย์ผล ผกก.กก.สส.ภ.จว.สุพรรณบุรี ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่ใน จ.สุพรรณบุรี ได้ผู้ต้องหา 2 ราย 3 คน นายภัทร์นรินทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี บ้านอยู่ในพื้นที่ ต.สนามคลี อ.เมืองสุพรรณบุรี และ น.ส.ฉันทนา (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี บ้านอยู่ในพื้นที่ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี และนายธีรัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ชาว ต.ไผ่กองดิน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ของกลางทั้งหมด ประกอบด้วย ยาบ้ารวมจำนวน 284,400 เม็ด ยาไอซ์ 12 กิโลกรัม เคตามีน 843.15 กรัม เฮโรอีน 310.2 กรัม ยาอี 13 เม็ด ไฟว์ไฟว์ 300 เม็ด (ยาเสียสาว) อาวุธปืนพกสั้นแบบลูกโม่ 1 กระบอก พร้อมกระสุน 6 นัด รถยนต์เก๋ง 2 คัน รถจักรยานยนต์ 1 คัน เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางไว้เป็นหลักฐาน สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนได้สอบขยายผลจนสามารถจับกุมผู้ต้องหาและยึดของกลางไว้เป็นหลักฐานจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้นำตัวผู้ต้องหาดำเนินคดีต่อไป
6.จังหวัดสมุทรสาคร เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด ภาค 7 ได้ร่วมกันจับกุมตัว นายภัทรเวช (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี เป็นชาว ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองสมุทรสาคร พร้อมของกลางยาบ้า (10 มัด) จำนวน 20,000 เม็ด รถยนต์เก๋ง ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีขาว ทะเบียนกรุงเทพมหานคร รถจักรยานยนต์ สีเทา ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน โทรศัพท์ 1 เครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบทราบมาว่า นายภัทรเวชฯ และนายธนชาติฯ ลักลอบจำหน่ายยาเสพติด (ยาบ้า) ให้กับลูกค้ามานานแล้ว จึงวางแผนล่อซื้อยาบ้า จำนวน 20,000 เม็ด (10 มัด) ในราคาเม็ดละ 8 บาท รวมจำนวนเงิน 167,000 บาท พร้อมนัดส่งมอบยาบ้า ที่บริเวณริมถนนใกล้กับปั้มน้ำมัน PT ท่าจีน ต.ท่าจีน อ.เมืองสมุทรสาคร โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปดักซุ่มรอและเข้าทำการจับกุมตัว นายภัทรเวชฯ เอาไว้ได้พร้อมของกลาง ส่วนนายธนชาติฯ เกิดไหวตัวทัน ขับรถยนต์หลบหนีไปได้ เจ้าหน้าที่จึงได้คุมตัวนายภัทรเวชฯ นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ย่อยท่าฉลอม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
7. จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และพล.ต.ต.สมกูล กาญจนอุดมการ ผบก.ตชด.ภาค 4 พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมชาย ซื่อต่อตระกูล ผบก.ภ.จว.นศ. นายถิรนาถ เอสะนาชาตัง นายอำเภอทุ่งสง และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าว กรณีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง ตชด.ตำรวจภูธรและฝ่ายปกครอง จับกุมยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ได้ของกลางยาบ้าจำนวน 1,200,685 เม็ด ผู้ต้องหา 4 คน พร้อมของกลาง รถยนต์จำนวน 1 คัน รถจักรยานยนต์จำนวน 1 คันและโทรศัพท์จำนวน 5 เครื่อง เหตุเกิดที่ตำบลนาไม้ไผ่ อำเภอทุ่งสง จากการสอบปากคำผู้ต้องหาเบื้องต้นทราบว่ายาเสพติดดังกล่าวเป็นของนายทุนต่างชาติซึ่งอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนภาคเหนือ ซึ่งพนักงานสอบสวนจะได้สอบสวนขยายผลเพื่อติดตามจับกุมและยึดทรัพย์ต่อไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีตัวอย่างที่ได้นำเสนอวันนี้ เป็นปฏิบัติการในการลด Supply ของยาเสพติด คือ ลดจำนวนผู้ค้าและผู้เสพ ซึ่งขยายผลจากการบูรณาการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงเบาะแสของผู้กระทำความผิดในแต่ละพื้นที่ และยังได้ให้แต่ละพื้นที่ โดยฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ สมาชิก อส. และ ชรบ. ตั้งจุดตรวจจุดสกัด เพื่อช่วยคัดกรองผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้วย ทั้งนี้ สามารถแจ้งเบาะแสยาเสพติดได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม โทร 1567 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการป้องกันและปราบปรามต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 568/2565 วันที่ 26 พ.ย. 65