เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 65 เวลา 14.00 น. ที่ศาลาพุทธชยันตี วัดธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า จ.นครพนม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานรวมพลังสตรีไทนาหว้า เทิดไท้ 90 พรรษา พระมารดาแห่งผ้าไทย และฉลองครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายสุรพล แก้วอินธิ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี นายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล ปลัดจังหวัดสกลนคร นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ นายอำเภอเมืองนครพนม รักษาราชการแทนปลัดจังหวัดนครพนม นายมนตรี ฮมแสน พัฒนาการจังหวัดนครพนม นายองอาจ ซองทุมมินทร์ พัฒนาการจังหวัดมุกดาหาร นายสมาน พั่วโพธิ์ พัฒนาการจังหวัดสกลนคร นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี นายวิชิต ทองปาน ท้องถิ่นจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มทอผ้า
โอกาสนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบรางวัลชนะเลิศ การประกวดประเภทต่าง ๆ ได้แก่ 1) การประกวดแต่งกลอนสด ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายปณตภณ แพงษา โรงเรียนราษฎร์สามัคคี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นายนัฐชานันท์ คุณขยัน โรงเรียนนาหว้าพิทยาคม 2) การประกวดเรียงความ เยาวชนคนรุ่นใหม่ เทิดไท้ 90 พรรษาพระมารดาแห่งผ้าไทย ระดับประถมศึกษา เด็กชายพงษ์อนันต์ ขวกเขียน โรงเรียนชุมชนประสานมิตร ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นางสาวอภิชญา แสงจันทร์ โรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นางสาวจิราภรณ์ นาโควงค์ โรงเรียนนาหว้าพิทยาคม และ 3) การประกวดการตัดเย็บเสื้อผ้า ได้แก่ ร้านอริสรา
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พี่น้องสตรีบ้านนาหว้าเป็นความภาคภูมิใจของสตรีไทย เพราะเป็นสตรีไทยกลุ่มแรกที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระมหากรุณาจัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ” อันเป็นน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นจากการที่พระองค์โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เยี่ยมเยียนช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่บ้านนาหว้า เมื่อปี 2513 ด้วยทรงเพียรพยายามในการหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือให้พสกนิกรของพระองค์ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการนำเอาภูมิปัญญา นำเอาศักยภาพความสามารถที่มีอยู่ในสายโลหิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย ก่อให้เกิดรายได้เสริม และนับเป็นโชคดีของคนนาหว้าที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยภาพที่พวกเราคนไทยได้ชื่นชมในพระบารมีและพระอัจฉริยภาพในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 พระองค์เสด็จเยี่ยมเยียนอาณาประชาราษฎรตามรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ณ วัดธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า จ.นครพนม แห่งนี้ เมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งในการเสด็จครั้งนี้ ได้มีคุณยายท่านหนึ่งได้กล่าวกับพระองค์ว่า “คิดว่าจะทอดทิ้งพวกเราแล้ว” โดยพระองค์ตรัสตอบว่า “ไม่ทอดทิ้ง จะมาช่วย และจะดูแลโครงการศิลปาชีพต่อจากสมเด็จย่าของพระองค์ท่าน” โดยพระองค์ได้พระราชทานโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเปรียบเสมือนน้ำทิพย์จากฟากฟ้าหล่นลงมากลางทะเลทราย ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 และสังคมไทยกำลังลืมเลือนผ้าไทย พระองค์ได้พระราชทานพระวินิจฉัยคำแนะนำต่าง ๆ ทำให้ผ้าไทยหลุดพ้นจากกับดักผ้าไทยที่ผันแปรไปจากผ้าไทยสมัยบรรพบุรุษ คือ 1) เราไม่ปลูกฝ้าย ไม่ปลูกหม่อน ไม่เลี้ยงไหมเอง เน้นการซื้อจากโรงงาน 2) ใช้สีเคมี ทำให้น้ำเน่า สัตว์น้ำอยู่อาศัยลำบาก เทลงไปในดิน ดินก็แข็ง ดินก็เสีย ขณะย้อมไม่ใส่ถุงมือ ผิวหนังก็เสีย โดยทรงเน้นย้ำให้พวกเราทุกคนได้น้อมนำหลักการ “พึ่งพาตนเอง” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและส่งเสริมการปลูกฝ้าย สร้างมาตรฐานเส้นใย ส่งเสริมปลูกพืชและไม้ให้สีย้อมผ้าสำหรับย้อมสีธรรมชาติ อันเป็นการชุบชีวิตต่อลมหายใจกลุ่มทอผ้าบ้านนาหว้า”
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า การจัดงานในวันนี้ ถือเป็นสิ่งที่พี่น้องชาวบ้านนาหว้าทุกคนได้ร่วมกันแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการปฏิบัติบูชาจัดงาน “รวมพลังสตรีไทนาหว้า เทิดไท้ 90 พรรษา พระมารดาแห่งผ้าไทย และฉลองครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ” จึงควรค่าแห่งการอนุโมทนาที่ทุกคนไม่ลืมพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการแสดงออกในการสนองพระเดชพระคุณพระองค์ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการตอบแทนพระองค์ท่าน คือ การสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย และจะใช้ภูมิปัญญาผ้าไทยในการเพิ่มพูนรายได้ ด้วยการใช้เวลาว่างจากการทำไร่นามารวมกลุ่มกันทอผ้า และตัดเย็บเสื้อผ้า ให้มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และขอให้ได้ถ่ายทอดสู่ลูกหลานบ้านนาหว้าเพื่อมีผู้สืบทอดลมหายใจของผืนผ้าไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “สตรีไทยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางกระทรวงมหาดไทย” โดยเน้นย้ำว่า คือ บทบาทหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของสตรีไทย คือ การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีความรักและความปรารถนาดีแก่พสกนิกรชาวไทย เพราะทุกพระองค์ทรงปรารถนาอยากให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการทำหน้าที่ของสตรีไทยที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานไว้อย่างชัดเจน 4 ประการ คือ 1) พึงทำหน้าที่เป็น “แม่ที่ดีของลูก” ดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งปวง ในยามอุ้มท้องต้องฝากครรภ์ดูแลครรภ์เพื่อให้ลูกแข็งแรง และเมื่อลูกคลอดมาแล้ว ก็เลี้ยงดูทะนุถนอมให้นมแม่ เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ให้ความรัก ความอบอุ่น ดูแลให้ลูกหลานของเราได้เติบโตมีคุณภาพ ได้รับการศึกษา เป็นคนดีของสังคม 2) พึงเป็น “แม่บ้าน” ทำหน้าที่ดูแลบ้านของเราให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำให้บ้านมีความน่าอยู่ของสมาชิกในครอบครัว ช่วยเก็บออมและเพิ่มพูนทรัพย์สินให้ครอบครัว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่คนรอบข้างตามสมควร 3) พึงพัฒนาตนเองให้มีความทันสมัย เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง 4) สืบสาน อนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติไทยของเราให้สืบสานส่งต่อไปยังลูกหลานต่อไป ซึ่งทั้ง 4 ประการนี้ ล้วนเป็นหน้าที่สำคัญของสตรีทุกท่าน ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นสตรีที่ทรงเกียรติ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้ คือ การพัฒนาตนเองให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่เราจะได้ช่วยกันสร้างชุมชนเล็ก ๆ สร้างบ้านของเรา สร้างชุมชนของเราให้เข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และสตรีไทยจะเป็นที่ยกย่องชื่นชมของสังคมโลกตลอดไป และหน้าที่ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2547 คือ 1 พึงทำหน้าที่ “แม่” ให้สมบูรณ์ โดยทำให้ครอบครัวบังเกิดความรัก และความอบอุ่น มีความเข้าใจและไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน 2 พึงทำหน้าที่ของ “แม่บ้าน” ให้ดีโดยทำให้บ้านมีความน่าอยู่ เป็นที่พักพิงอันอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัว ช่วยเก็บออมและเพิ่มพูนทรัพย์สินให้ครอบครัว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนรอบข้างตามสมควร 3 พึง “รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย” ผู้มีความนุ่มนวล อ่อนโยน สุภาพ เมตตา และยิ้มแย้มแจ่มใส รวมทั้งธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยอันละเอียดประณีตให้เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติตลอดไป และ 4 พึง “ฝึกฝนตนเอง” ให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ขยัน และอดทน มีความประยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย และรักษา ความสามัคคี ในหมู่คณะไว้ให้มั่นคง
“กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาบทบาทสตรีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่าย นอกจากนี้ หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องช่วยกันส่งเสริมบทบาทของสตรีไทย คือ 1) ต้องส่งเสริมให้สตรีไทยเข้ามามีบทบาทที่สำคัญยิ่งของการดูแลตนเอง ดูแลลูกหลาน ครอบครัว ชุมชน และสังคม ในการรักษาภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทย 2) ส่งเสริมให้สตรีไทยดูแลบ้านเรือนสะอาดสะอ้าน ไม่สกปรกรกรุงรัง เป็นแหล่งเพราะเชื้อโรค ด้วยการชักชวนสมาชิกในครอบครัว จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และวางระบบในการคัดแยกขยะในบ้าน ขยะเปียก นำไปใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อน ขยะรีไซเคิลได้ ก็รวบรวมนำไปขายก่อให้เกิดรายได้ ถ้าทุกครัวเรือนทำ ก็จะเกิดเป็นเงินเก็บสะสม เงินที่ได้สะสมทีละเล็กละน้อยก็จะมาจุนเจือช่วยเหลือครัวเรือนที่ตกทุกข์ได้ยากในชุมชนอีกด้วย 3) น้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการ “ปลูกพืชปลูกผักปลูกรักกับท่านนายอำเภอ” ซึ่งหากทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวไว้บริโภค เฉลี่ยแล้วจะประหยัดได้ 50 บาท/วัน เมื่อคำนวณ 10 ล้านครัวเรือน จะเท่ากับวันละ 500 ล้านบาท เมื่อนับทั้งปี 365 วัน พี่น้องประชาชนครัวเรือนทั่วประเทศก็สามารถประหยัดเงินจากกระเป๋ากว่า 200,000 ล้านบาท และยังเป็นการเสริมสร้างความรัก ความอบอุ่น ความสามัคคีของคนในบ้าน และยังเป็นผักปลอดสารพิษ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ปลอดโรคภัย 4) ส่งเสริมให้สตรีไทยรักษาศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านเครื่องนุ่งห่ม เพราะเงินทองจะไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ และเราทอได้เอง อันเป็นหลักประกันที่มั่นคงว่า เมื่อเกิดโรคระบาด หรือหากเกิดศึกสงคราม เราจะมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสวมใส่ และ 5) ต้องส่งเสริมให้สตรีไทย ได้อบรมสั่งสอนลูกหลาน ให้เด็ก เยาวชน ลูกเสือ เนตรนารี ได้ฝึกการดูแลตนเอง การใช้ชีวิตให้อยู่รอดในสังคมได้ และทำให้ลูกหลานได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การฝ่าฟันต่อสู้เอาชนะความยากจนของชาวนาหว้า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พี่น้องสตรีชาวบ้านนาหว้าทุกคน ได้ร่วมกันสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อทำให้เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน หมู่บ้าน เข้มแข็ง เกิดความภาคภูมิใจของลูกหลาน เพื่อมีกำลังใจในการสานต่อเจตนารมณ์ ภูมิปัญญา หัตถศิลป์ หัตถกรรมของบรรพบุรุษ อันจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงทั้งด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 572/ 2565 วันที่ 27 พ.ย. 2565