วันนี้ (8 ก.พ. 66) เวลา 08.00 น. ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ตรวจเยี่ยมและพบปะสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง” ภายใต้โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 4 โดยมี นายอำเภอและภาคีเครือข่าย ได้แก่ ผู้นำภาครัฐ ผู้นำภาควิชาการ ผู้นำภาคศาสนา ผู้นำภาคประชาชน ผู้นำภาคเอกชน ผู้นำภาคประชาสังคม และผู้นำภาคสื่อสารมวลชน จากจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และจังหวัดลำพูน รวมจำนวน 130 คน ร่วมรับฟัง
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ดำเนินโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งเสริมสร้างพลังแห่งความร่วมไม้ร่วมมือของชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ โดยมี “นายอำเภอ” เป็นแม่ทัพคนสำคัญในระดับพื้นที่ ในการนำทีมงานของอำเภอริเริ่ม สร้างสรรค์ พัฒนาพื้นที่อำเภอ ให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน อันเป็นความปรารถนา ความตั้งใจของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย โดยท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และท่านแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งห้วงเวลาของการอบรม “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง” รุ่นที่ 4 นี้ มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 6 – 10 กุมภาพันธ์ 2566 รวม 5 วัน 4 คืน ซึ่งจะทำให้ทุกคนที่เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น ได้เป็นภาคีเครือข่าย เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เพื่อร่วมกันมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่ดี สร้างสรรค์พลังบวกให้กับพื้นที่ของพวกเราทุกคน เพราะตลอดระยะเวลาที่ฝึกอบรมจะมีกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนได้ร่วมแรงแข็งขันทำด้วยกัน เช่น กิจกรรมเชิงปฏิบัติ (WORK SHOP) ระดมความคิดเห็น การพูดคุยปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน อันจะทำให้ท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ และทีมผู้นำของอำเภอ มีความสนิทชิดเชื้อคุ้นเคยกันมากกว่าการที่นายอำเภอและทีมงานจะนั่งทำงานอยู่ที่อำเภออย่างแน่นอน โดยหลังจากการฝึกอบรมในครั้งนี้ ท่านนายอำเภอจะต้องนำทีมผู้นำของอำเภอทุกท่านที่ได้ฝึกอบรมด้วยกันนี้ ลงพื้นที่ไปพบปะ เยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน ศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ลงไปคลุกคลีตีโมง เคารพนบนอบพี่น้องประชาชนดั่งญาติมิตร ตามแนวทางการทำงานของชาวมหาดไทยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีได้ประทานไว้ว่า “ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ด้วยการหมั่นลงพื้นที่เข้าไปหาพี่น้องประชาชน
“ข้อคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ นายอำเภอต้องนำทีมภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย มาพบปะกันให้บ่อย ให้ถี่ มาร่วมระดมความคิด หารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ในลักษณะไม่เป็นทางการ เพื่อให้เกิดการสะท้อนความต้องการหรือข้อเสนอแนะ ทำให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ อาทิ การน้อมนำโครงการพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ทำให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งหากทุกคนได้ร่วมกันทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นมรรคผล ด้วยการเริ่มที่ตัวเรา เป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ก็จะสามารถเป็นแบบอย่างให้กับพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนได้เห็น ทำให้เด็ก เยาวชนได้เห็น และทำตามเป็นแบบอย่าง” นายชัชวาลย์ฯ กล่าว
นายชัชวาลย์ฯ เน้นย้ำตอนท้ายว่า โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน จะทำให้เกิดการสร้างกลไกการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนงานให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการ Change for Good เสริมสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ดังนั้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมภายใต้โครงการนี้ ล้วนเป็นบุคลากรและภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยที่มีความเสียสละ มีจิตอาสา และได้รับการคัดเลือกในเบื้องต้นแล้วจากท่านนายอำเภอ จึงขอให้ทุกคนได้มุ่งมั่นตั้งใจสั่งสมประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้และใช้ชีวิตร่วมกับท่านนายอำเภอ เพื่อเป็น Change Agent นำความรู้ไปพัฒนาพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน/ชุมชนให้มีแต่สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 114/2566 วันที่ 8 ก.พ. 2566