วันนี้ (28 มี.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้า “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย ทุกเทคนิค นำไปสร้างสรรค์ชิ้นงานเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนคนไทยนำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้จังหวัดสระแก้ว หนองบัวลำภู ขอนแก่น และสมุทรปราการได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชิญไปมอบให้ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการผ้า ใช้ในการประกอบอาชีพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. จังหวัดสระแก้ว ที่ห้องประชุมศานิตย์ นาคสุขศรี ชั้น 2 มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ พัฒนาการจังหวัดสระแก้ว นายอำเภอทุกอำเภอ หัวหน้าหน่วยส่งเสริมหม่อนไหมสระแก้ว และกลุ่มทอผ้าในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อนำแบบลายผ้าพระราชทานไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดสระแก้ว โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
2. จังหวัดหนองบัวลำภู ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้า ผู้ทอผ้า ผู้ผลิตผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ช่างหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู รวมทั้งสิ้น 186 ราย/กลุ่ม เพื่อนำแบบลายผ้าพระราชทานไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
3. จังหวัดขอนแก่น ที่ห้องประชุมแก่นเมือง ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ เพื่อนำไปมอบให้กับกลุ่มทอผ้าในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อนำแบบลายผ้าพระราชทานไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
4. จังหวัดสมุทรปราการ ที่ห้องประชุมศาลาประชาคมจังหวัดสมุทรปราการ นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ กลุ่มทอผ้า และผู้ผลิตผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิคในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อนำแบบลายผ้าพระราชทานไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
“เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา พระองค์พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ซึ่งเป็นลายผ้าที่พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้ แล้วนำมาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้น ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้าบาติก ประเภทที่ 2 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ามัดหมี่ ประเภทที่ 3 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ายก และผ้าบาติกลายพระราชทาน ลายที่ 3 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โปรดเกล้าฯ ให้พัฒนา “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2503 เพื่อให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ทั้งนี้ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะได้ขยายผลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และยังประโยชน์แก่ประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืนสืบไป” ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 298/2566 วันที่ 28 มี.ค. 2566