วันนี้ (2 ต.ค. 66) เวลา 16.00 น. ที่ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมชัย อัศวชัยโสภณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายสมคิด จันทมฤก นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัฐ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าส่วนราชการ โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ไปยังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน เส้นทางจราจรชำรุด เป็นต้น ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานสำคัญในการป้องกัน ช่วยเหลือ บรรเทา และดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องขอขอบคุณนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ไปลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายโดยทันที ทั้งนี้ ในภาพรวมทั้งประเทศ เราสามารถบรรเทาผลกระทบกับพี่น้องประชาชนลงได้ แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังคงไม่น่าไว้วางใจ ยังมีความไม่แน่นอน เพราะคาดว่าจะมีปริมาณฝนและปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมาพูดคุยหารือเพื่อหาแนวทางวิธีป้องกัน นอกจากการให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้ทำอยู่ในขณะนี้ เพื่อป้องกันการเกิดสาธารณภัยที่อาจส่งผลกระทบในพื้นที่ต่าง ๆ อันจะทำให้เราสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ตนได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอหลายจังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัยในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งท่านผู้ว่าฯ นายอำเภอ และผู้เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่อย่างเต็มที่ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีการสื่อสารที่พวกเราได้นำมาใช้เผยแพร่ข่าวสาร โดยเฉพาะในการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยพื้นที่ในความรับผิดชอบของทุกท่าน
“กระทรวงมหาดไทยขอยืนยันว่าพวกเรามีความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากสถานการณ์ภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ และพวกเราจะทำทุกวิถีทางอย่างเต็มที่ ด้วยกลไกของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีหน้าที่เป็นผู้อำนวยการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ซึ่งสามารถบูรณาการงานในพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้อย่างดี ตลอดจนถึงการระดมสรรพกำลัง งบประมานและด้านต่าง ๆ โดยขอย้ำเตือนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการสื่อสารสังคม สร้างความเข้าใจผ่านข้อมูลข่าวสารที่เป็นไปตามข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ความหวั่นไหว เพราะด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็ว หากเราไม่สามารถบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความตื่นตระหนก ที่จะเป็นผลต่อตัวบุคคลหรือหน่วยงานได้ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงโดยใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ของพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว เพื่อชี้แจงให้เห็นถึงความคืบหน้า สิ่งที่กำลังทำอยู่ ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง” นายอนุทินฯ กล่าวในช่วงต้น
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้จังหวัดบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการปฏิบัติ พร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยเน้นย้ำให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด บูรณาการทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ ทหารในพื้นที่ อาสาสมัคร รวมถึงประชาชนจิตอาสา ดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1) บริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในลุ่มน้ำต่าง ๆ 2) บูรณาการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และแก้ปัญหาความเดือดร้อนโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะด้านที่พักอาศัย ต้องเร่งซ่อมแซมที่อยู่อาศัย บริหารจัดการขยะ มีการจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน รถประกอบอาหาร รถผลิตน้ำดื่ม การจัดหน่วยแพทย์ดูแลสุขภาพจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ การรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนทั้งในบริเวณจุดอพยพ ศูนย์พักพิงชั่วคราว และบ้านเรือนประชาชน จัดชุดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในเขตชุมชนเมืองที่น้ำท่วมขัง ร่วมกันเฝ้ากำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำและรถสูบส่งน้ำระยะไกล และให้มีการตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ สะพาน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงปลอดภัย และร่วมกับหน่วยงานคมนาคมตรวจสอบเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ ติดตั้งป้ายเตือน อุปกรณ์และสัญญานไฟเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางสัญจรของประชาชน 3) ด้านการแจ้งเตือนประชาชนให้ร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ขอให้เร่งสำรวจความเสียหายให้ครอบคลุมในทุกด้านโดยเฉพาะบ้านเรือนที่พักอาศัย พื้นที่การเกษตร สิ่งสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ช่วยกันซ่อมแซมฟื้นฟูสำรวจความเสียหายให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว
“ในเรื่องการดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ขอให้ใช้งบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยโดยเร็ว เพราะผู้ว่าราชการจังหวัด คือ ศูนย์กลางในการประสานงานแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดของท่าน เพราะงานทุกงานเป็นงานของชาวมหาดไทย และขอยืนยันความพร้อมที่กระทรวงมหาดไทยจะให้การสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเต็มที่ หากมีความจำเป็นเร่งด่วนขอให้ประสานมายังส่วนกลางเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป “เจตนาที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้เราปฏิบัติงานได้” และขอชื่นชมทุกท่านที่มุ่งมั่นตั้งใจ ขอให้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ทำในสิ่งที่พวกเราทุกคนมุ่งหวัง คือ การช่วยเหลือประชาชน เพราะเจตนาที่ดีจะทำให้งานของเราประสบผลสำเร็จ จึงขอฝากความหวังไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และพี่น้องชาวมหาดไทยทุกคน” นายอนุทินฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายเกรียง กัลป์ตินันท์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายสั่งการไปอย่างชัดเจนให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องทำงานเชิงรุก ไม่เพียงแค่เชิงป้องกัน ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำให้ได้รับรายงานจากหลายจังหวัดว่าส่วนใหญ่แล้วเราทำงานด้านการบรรเทาสาธารณภัย แต่แท้จริงแล้ว “หน้าที่ของเราคืองานป้องกัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันไม่ให้เกิดสาธารณภัยในพื้นที่ที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็อยู่ที่เดิม อย่างที่จังหวัดสุโขทัย มีอุทกภัยเกิดเป็นประจำ ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ประสบปัญหาอุทกภัยซ้ำเดิมทุกปี จึงเป็นหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ต้องช่วยกันหาวิธีป้องกัน เพื่อเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำให้มีประสิทธิภาพต่อไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีข้อสั่งการให้มีวิทยุแจ้งไปยังทุกจังหวัดในการทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะเรื่องของการสำรวจและใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ ทั้งผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) รวมถึงผังลุ่มน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในการสำรวจหาจุดเสี่ยงทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการป้องกันสาธารณภัยเชิงรุกต่อไป ทั้งนี้ ขอให้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในช่วงเวลาไม่มีฝน ชาวบ้านก็ต้องมีน้ำใช้ จัดทำแหล่งกักเก็บน้ำ รวมถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ป้องกันไม่ให้น้ำล้นตลิ่ง นอกจากนี้ต้องมีระบบสื่อสารประชาสัมพันธ์กับพี่น้องประชาชนในทุกช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หอกระจายข่าว ช่องทางออนไลน์ หรือผู้นำในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดดินถล่ม ดินสไลด์ และปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ภัยที่มาจากน้ำท่วม ทั้งเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ขอให้พวกเราบูรณาการช่วยกันวางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชน สื่อสารสร้างการรับรู้ด้วยความรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารให้กับสังคมได้รับรู้รับทราบควบคู่กับการดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยยึดตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 926/2566 วันที่ 2 ต.ค. 2566