วันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2567 เวลา 14.27 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเป็นองค์ประธานการประชุมวิชาการ (Symposium) การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 ณ สเฟียร์ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้ประกอบการผ้าและหัตถกรรม นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจร่วมรับเสด็จเป็นจำนวนมาก
การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรนิทรรศการการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ซึ่งเป็นนิทรรศการนำเสนอการยกระดับงานศิลปหัตถกรรม งานฝีมือ ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นได้ในระดับสากล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นบรรณาธิการบริหาร หนังสือ Thai Textiles Trend Book โดยเล่มล่าสุดเป็นเล่มที่ 5
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปประทับพระเก้าอี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบทูลถวายรายงานการจัดประชุมวิชาการฯ ในโอกาสนี้ พระราชทานหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025 ให้แก่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 30 ราย แล้วทรงบรรยายในหัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2567” ร่วมกับนายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย และนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก
สำหรับองค์ความรู้การนำเสนอในหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025 เล่มนี้เป็นความยาก ความท้าทาย (Challenge) ของผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์งาน เพราะมีแนวความคิด (Concept) ใหม่ ด้วยเทคนิคการผสมสี ทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง การออกแบบดีไซน์ต่าง ๆ สะท้อนความรัก 4 มิติ คือ รักตัวเอง รักสิ่งแวดล้อม รักในอดีต และรักในอนาคต เป็นหัวข้อหลักของการนำเสนอ การใช้ความรัก ความเคารพ การใช้อารมณ์ความรู้สึกช่วยผลักดันความคิดสร้างสรรค์เพื่อตอบแทนภูมิปัญญาไทยและงานหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน เชื่อมต่อถักทอภูมิปัญญาด้วยแนวคิด “แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน” โดยใช้เส้นใยธรรมชาติในการสร้างสรรค์เทคนิคต่าง ๆ อันเป็นแนวทางสร้างความนิยมแห่งการใช้สิ่งทอไทยอย่างยั่งยืน ทั้งมัดหมี่ ยกดอก เกาะหรือล้วง บาติก ขิด จก และ 4 เทคนิคตามฤดูกาล ได้แก่ ผ้าทอเกล็ดเต่า ผ้าทอเกล็ดเต่าใหญ่ ผ้ายกลายราชวัตรโคมหรือลายราชวัตรดอกใหญ่ และผ้าขิดลายดอกจัน
ทั้งนี้ Trend/เฉดสีใน Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025 เล่มนี้ มี 4 กลุ่มสี คือ
1) โอบอ้อมอบอุ่น : Warm Embrace สะท้อนแรงบันดาลใจจากรัก กลุ่มสีนี้ถือกำเนิดขึ้นจาก “ความรัก” อันบริสุทธิ์ ที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อมวลมนุษยชาติ เริ่มต้นจากความรักในครอบครัว มิตรภาพ ความรักโรแมนติกไปจนถึงความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยง เมื่อพูดถึงความรัก แต่ละคนย่อมมีภาพจำในใจที่แตกต่าง บางคนนึกถึงสัญลักษณ์สื่อรัก บางคนนึกถึงสีสันอันสดใส แต่สิ่งหนึ่งที่สื่อถึงความรักได้อย่างลึกซึ้งที่สุดคือ “สัมผัส” และ “อ้อมกอด”
“กลุ่มสีที่ให้ความรู้สึกถึงความรัก ความสัมพันธ์ ความอบอุ่นที่ได้จากการสัมผัส การโอบกอด แสดงออกผ่านกลุ่มสีพาสเทลของดอกไม้นานาพรรณ เช่น ดอกเทียนหยด ดอกกุหลาบแห้ง ดอกแอสเตอร์ ดอกโบตั๋น ดอกสร้อยอินทนิล เกสรดอกตะขบ สีฟ้าใสที่เป็นดั่งพื้นหลังของภาพแห่งรัก และกลุ่มสีน้ำตาลของหมึกกระดอง เทาลูกกวาง แต่งแต้มด้วยสีทรายทองให้เกิดจุดสนใจ แรงบันดาลใจจากภาพวาดในแนว abstract ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก การโอบกอดของเหล่ามนุษยชาติ การไหลและหลอมรวมกันของสีสัน แต่ไม่ผสมเป็นสีใหม่ ยังคงมีความเป็นตัวตนเดิม”
ในด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ จำแนกเป็น “ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์” มีผิวสัมผัสที่เนียน เรียบ มีสีสันที่สดใส ตัดกันในโทนพาสเทล รูปร่างที่มีความโค้ง มน เป็นมิตรต่อการรองรับสรีระ มีความนุ่มเมื่อสัมผัส แต่มีความเบาบางเมื่อมอง รูปทรงที่สร้างให้เกิดจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจที่จะส่งมอบความรัก ความรู้สึกที่ดีให้กับคนรอบตัว และ “ผลิตภัณฑ์แฟชั่น” รูปทรงท่อนบนที่ฟิตพอดี อันเกิดมาจากเทคนิคการพัน ผูก การจับเดรปหรือความฟิตพอดีที่เกิดจาก Accessories และรูปทรงที่มีความสบายในส่วนอื่น ๆ เช่น แขนเสื้อ และท่อนล่าง อันเป็นการแสดงถึงลักษณะของการโอบกอด ลวดลายแบบหินอ่อน การย้อมไล่สี การมัดย้อม บนวัสดุที่มีความบางเบา ลวดลายกราฟิกเเบบนามธรรม ก็ช่วยให้เกิดความรู้สึกร่วมสมัยในกลุ่มสีนี้ได้
2) สวรรค์เขตร้อน : Paradise Found สะท้อนผืนป่าที่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าที่ช่วยให้มนุษยชาติสามารถดำรงชีวิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ป่าในแต่ละภูมิภาคของโลกล้วนมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามสภาพอากาศ แต่ป่าที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทั้งด้านพืชพรรณและสรรพสัตว์ ล้วนอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร หรือเขตร้อนที่ทำหน้าที่เป็นปอดของโลก ทำให้โลกของเรายังทำหน้าที่เป็น “บ้าน” ของเราต่อไปได้ ผืนป่า คือ บ้าน จุดเริ่มต้นของความรักของมนุษยชาติ ที่มองเห็นถึงความงามของการอยู่ร่วมกัน ดุจดั่งสวรรค์ของสิ่งมีชีวิต
“กลุ่มสีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากป่าฝนเขตร้อน ทั้งจากทวีปอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งอุดมไปด้วยพืชพรรณและเหล่าสรรพสัตว์ที่มีสีสันสดใส เปรียบได้ดังดินแดนแห่งสรวงสวรรค์บนผืนแผ่นดินที่มีความสวยงามอันเกิดจากความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์ สีสันของนกขมิ้นท้ายทอยดำ นกกระเต็น แมลงเต่าทอง และพืชพรรณอย่างกวักมรกตดำ ใบย่านาง ว่านหางจระเข้ ก้านของดอกมะลิ ดอกกล้วยไม้แวนด้าพชร และดอกปักษาสวรรค์ ที่ประกอบเป็นกลุ่มสีที่ให้ความรู้สึกสดชื่น สดใส สร้างพลังงานให้กับชีวิต“
ในด้านรูปแบบ “ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์” รูปทรงที่เป็นธรรมชาติที่มีลวดลายที่โดดเด่น เช่น ลายพืชพรรณ ใบไม้ เถาวัลย์ ลายของปีกแมลง ปีกและขนของนก สีสันอันสดใสของดอกไม้เขตร้อนนานาพรรณ ผิวสัมผัสที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหญ้า มอส และพืชที่เติบโตในบริเวณที่มีความชื้นสูง และ “ผลิตภัณฑ์แฟชั่น” รูปทรงเสื้อผ้าที่นุ่มนวล ไร้โครงสร้าง เกิดจากวัสดุที่มีความบางและเบา พลิ้วไหวและแนบไปกับรูปร่างผู้สวมใส่ รูปทรงอาจเกิดจากเทคนิคการตัดเย็บ เช่น การเย็บรูดเย็บระบาย ให้เกิดเป็นวอลุมสวมใส่ควบคู่กับรูปทรงแบบ Soft Tailoring หรือรูปแบบเสื้อผ้ามีโครงสร้างแต่สวมใส่สบาย เน้นความเป็นธรรมชาติของวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้ายเนื้อบาง ผ้าไหมน้อย ตัดเย็บไม่ซับซ้อน ทว่ามีการใช้ลวดลายจากธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ แมลงมาตกแต่งให้เกิดความสนุกสนาน
3) เงาแห่งอดีต : Silhouette of the Past เป็นการทบทวนอารยธรรม เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นตัวแทนของภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ มรดกที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราในวันนี้ เมื่อเราย้อนกลับไปทบทวนที่มาที่ไปของความเป็นเรา มองเห็นร่องรอยในความทรงจำที่ท้าทายและน่าค้นหาในประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าความเป็นตัวตนผ่านผู้คน สถานที่ ศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม มีความเคารพในความเชื่อและความสามารถทางภูมิปัญญา เกิดความภาคภูมิใจ มาเป็นแนวคิดเงาแห่งอดีต ให้ความรู้สึกโบราณที่บ่งบอกกาลเวลา มรดกแห่งอารยธรรม สร้างบทเรียนและความทรงจำอันล้ำค่าให้กับผู้คนยุคใหม่
“กลุ่มสีประกอบด้วยเฉดสีเอิร์ทโทนเคลือบฝุ่น ที่ให้ความรู้สึกถึงกาลเวลา ความทรงจำ ร่องรอย ความสงบ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก โบราณสถาน สถาปัตยกรรม งานประดับตกแต่ง ในประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกกาลเวลา ได้แก่ สีเครื่องเงินโบราณ สีปูนตำ สีกากี สีเกสรดอกตะขบ สีแก่นไม้มะริด สีปูนแดง สีไข่มุก สีฟ้าฮูปแต้ม และสีครามเข้ม ในเวลากลางวันที่สะท้อนสีน้ำเงินของท้องทะเล”
ในด้านรูปแบบ “ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์” สร้างความรู้สึกเก่าแก่ ผิวสัมผัสที่หยาบ สื่อถึงธรรมชาติและวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ หิน ผ้าพื้น ผิวกระตุ้นการสัมผัส อยู่ในรูปทรงเรียบง่ายร่วมสมัยที่เคารพเทคนิคตั้งเดิม ภาชนะเครื่องเคลือบจากโลกตะวันตกและตะวันออก ต่อการใช้งานปัจจุบัน สามารถสร้างบรรยากาศอบอุ่นด้วยรูปร่างรูปทรงที่สื่อถึงความสงบในเรื่องราวที่สะท้อนความทรงจำ และ “ผลิตภัณฑ์แฟชั่น” รูปแบบจากแรงบันดาลใจจากอารยธรรม เกิดรูปทรงใหม่ ๆ อาทิ ซิลูเอตแปลกใหม่จากเอกลักษณ์ในชิ้นงานศิลปะ รูปทรงหลากหลายจากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ซิลูเอตที่ผสมผสานโครงสร้างอื่น ๆ ให้มีรูปทรงพอง มีปริมาตรชัดเจนคล้ายโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมจากแพตเทิร์นที่ร่วมสมัย ไม่ซับซ้อน จากการเย็บรูด ผูก ตัดต่อ ตัวหลวมให้เห็นโครงสร้างชัดเจนแต่ดูสบายดึงดูดสายตาด้วยลวดลายผ้าจากแรงบันดาลใจในอดีต อาทิ ลวดลายที่ลดทอนจากภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง เทคนิคเขียนสีปูนเปียก ลวดลายนามธรรม
4) แพรวพราววาวฝัน : Iridescent Dream สะท้อนการก้าวสู่อนาคต การถกเถียงความเป็นอนาคตโลกของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพียงอย่างเดียว การสร้างความคุ้นชินใหม่ ๆ ทางวัฒนธรรม ทดลองแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการและวิถีชีวิตใหม่ สร้างพื้นที่ใหม่ ที่มีดิจิทัลเป็นจุดศูนย์กลางของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ จินตนาการใหม่ถึงความหมายของการดำรงอยู่เชื่อมต่อและความยั่งยืน กลายมาเป็นแนวคิดแพรวพราววาวฝัน ที่ให้ความรู้สึกฟุ้งกระจาย เรืองแสง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และเฉดสีเหมาะกับงานสร้างสรรค์ดิจิทัล
“กลุ่มสีประกอบด้วยเฉดที่ให้ความรู้สึกกระตุ้นทางสายตา ปลุกเร้าพลัง เติมความสนุก สดใส มีชีวิตชีวา สะท้อนการสร้างสรรค์ทางการมองเห็นดังผลข้างเคียงของการใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่ทำให้เกิดภาพเหนือจินตนาการที่ไม่ปรากฏในธรรมชาติ โดยภาพเหล่านั้นประกอบด้วย สีเปลือกมะนาว เขียวส่อง เขียวมะเฟือง สีเหลืองสุดของมะนาวฝรั่ง ความแวววาวของทองแดง และเพลิงลาวา สีของเนื้อส้มโอทับทิมสยาม และสีเปลือกมะม่วงหาวมะนาวโห่ ให้โทนสีแดงส้ม ตัดด้วยสีของควันไฟ“
ในด้านรูปแบบ “ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์” ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์รูปแบบเติมความสนุก สดใส มีชีวิตชีวา ผสมผสานวัสดุสะท้อนแสง โปร่งใส สร้างความแปลกใหม่ด้วยเลเยอร์ของรูปทรง ให้อารมณ์พื้นผิวผสมผสานเรืองแสง แสงฟุ้งกระจายกับวัสดุมันวาว ซาติน หรือเมทัลลิก ที่มีมากกว่าแค่การเกิดสี ในรูปทรงผลิตภัณฑ์อิสระ ให้ความรู้สึกผสมผสานความเป็นดิจิทัลที่สวยงาม ให้สุนทรียะในการดำเนินชีวิต นำอรรถประโยชน์ในงานตกแต่งบ้านและข้าวของเครื่องใช้ ในเป้าหมายของวิถีชีวิตใหม่ และ “ผลิตภัณฑ์แฟชั่น” รูปแบบจากแรงบันดาลใจ แพรวพราวาวาวฝัน แนวคิดด้านรูปทรงใหม่จากการผสมผสานวัสดุสะท้อนแสงมันวาว การทอสีเหลือบด้วยวัสดุธรรมชาติผสมผสานวัสดุสังเคราะห์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1582/2567 วันที่ 13 ส.ค. 2567