น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (28 ส.ค. 67) เวลา 11.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากเหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่ม ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านท่าหีบ ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โครงการก่อสร้างช่วงสถานีคลองขนานจิต โดยเป็นการลงพื้นที่ติดตามปฏิบัติการช่วยเหลือต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ซึ่งขณะนี้รวมเวลากว่า 80 ชม. แต่ยังไม่สามารถนำผู้ประสบภัยในที่เกิดเหตุ 3 ราย ออกมาได้ เนื่องจากยังมีอุปสรรคและความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการรายงานของเจ้าหน้าที่ทีมปฏิบัติการ USAR ปภ. ทราบว่า ผลการค้นหาจากเครื่องเรดาห์สำหรับค้นหาผู้ประสบภัยใต้ซากอาคาร (LifeLocator) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ยังพบสัญญาณชีพและการเคลื่อนไหวของผู้ประสบภัยทั้ง 3 คนอยู่เป็นระยะ ซึ่งในวันนี้ตนพร้อมคณะ มาลงพื้นที่ติดตามสังเกตุการเพื่อเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งช่วยให้การประสานและสนับสนุน เช่น โดรนตัวเล็กในการเข้าพื้นที่ค้นหา ซึ่งเจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ต่อเนื่อง ความคืบหน้าปฏิบัติการ วันนี้ได้ส่งทีมวิศวกรรมของกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับคณาจารย์วิศกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เพื่อสำรวจความปลอดภัยในการเข้าสนับสนุนเพิ่มเติม โดยวิธีการในเบื้องต้นได้ใช้หลักวิศวกรรมในการขุดเจาะผนังดินที่ถล่ม สร้างอุโมงค์ชั่วคราว โดยมีคานเหล็กบีม 6 เมตร และใช้เหล็กประกอบกันเป็นอุโมง สร้างเป็นฐานค้ำยันเพื่อขุดเจาะเข้าไปจนถึงพิกัดผู้ประสบภัยติดอยู่
“จุดที่ผู้ประสบภัยคนที่ 1 อยู่ใกล้ที่สุด ห่างจากเครืองขุด ในรัศมี 1.2 เมตร ติดอยู่ในรถบรรทุกมีการขยับตัว แต่พบว่าไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับเครื่องขุดเจาะ ต้องมีการขุดแทยงลงไปอีก 0.8 เมตร โดยใช้รถแบคโฮ ซึ่งการเตรียมการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ได้เตรียมเครื่องมือ เครื่องตัดถ่างไว้และจะได้เคลื่อนย้ายออกจากจุดเกิดเหตุ พร้อมเตรียมทีมแพทย์ปฐมพยาบาล ก่อนส่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ไปยัง รพ.มหาราชนครราชสีมา สำหรับคนที่ 2 ชาวจีน ติดในรถแบคโฮ ระยะทางห่างจากจุดแรก 8 เมตร และคนที่ 3 ห่างไปอีก 14 เมตร ซึ่งจากการเจาะพบว่ามีดินสไลด์ลงเป็นระยะ ซึ่งตามแผนการช่วยเหลือจะดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยคนแรกให้ได้ ภายใน 15.00 น. ของวันนี้” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือคือการดำเนินการไม่ให้ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุด อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ทีม USAR กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประจำการ ณ ศูนย์บัญชาการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชม. พร้อมใช้ท่อพร้อมพัดลมเพื่อส่งอากาศเข้าในอุโมง เพื่อให้เจ้าหน้าทุกส่วนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะยิ่งใช้เวลามากเจ้าหน้าที่ยิ่งเกิดความเครียด ดังนั้นต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
น.ส. ไตรศุลี กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุดังกล่าว นายอนุทิน ได้ติดตามสถานการณ์ โดยได้กำชับให้นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้ร่วมกับ นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ (ศบก.อ.) ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการ ด้วยการบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ปฏิบัติภารกิจการค้นหาและกู้ภัย โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ พื้นที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์จะยุติ
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1677/2567 วันที่ 28 ส.ค. 2567