วันนี้ (9 ธ.ค. 65) เวลา 08.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ประชุมติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการทำสงครามกับยาเสพติดของกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้อง War Room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีการหารือถึงการกระบวนการลด Supply Side เพื่อป้องกัน ปราบปราม และจับกุมผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติด ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และกระบวนการลด Demand Side ด้วยการทบทวนกลไกและกระบวนการบำบัด รักษา และการฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา สามารถกลับตัวกลับใจเป็นคนดีในสังคม และสามารถพึ่งพาตนเองได้มีอาชีพที่สุจริต โดยไม่หันกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และเป็นกำลังหลักในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมการปกครองขับเคลื่อนภารกิจการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เร่งด่วน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การ Re X-Ray เพื่อค้นหาผู้ค้า – ผู้เสพ ทุกพื้นที่ ซึ่งมีตัวเลขผู้เสพ ประมาณ 120,000 ราย และ ผู้ค้าประมาณ 18,000 ราย 2) การค้นหาสถานที่บำบัดรักษา ซึ่งขณะนี้มีสถานที่ที่พร้อมดำเนินการจัดเป็นสถานที่บำบัดรักษามีสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคครบถ้วนแล้ว จำนวน 158 แห่ง และ 3) การขอรับการสนับสนุนงบประมาณ (งบกลาง) เพื่อใช้ในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้สำนักงานงบประมาณได้เห็นชอบในหลักการแล้ว แต่มีความเห็นให้ตัดลดงบประมาณลง แต่ทางกรมการปกครองได้ยืนยัน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามเดิม เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานว่า ตัวเลขผู้ค้าและผู้เสพอาจมีปริมาณมากกว่าที่สำรวจก็เป็นได้ ซึ่งหากมีการตัดลดงบประมาณจะทำให้ไม่สามารถดำเนินการในส่วนที่เพิ่มขึ้นมา จะต้องรอรับการสนับสนุนงบประมาณในปีถัดไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ขอชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทุกฝ่าย และขอให้ระลึกไว้ว่า อย่ากลัวความล้มเหลว หรือ ความผิดพลาด เพราะเราตั้งใจดี เจตนาแบบตรงไปตรงมา ที่จะทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน ซึ่งปัญหายาเสพติดถือเป็นภัยเรื้อรังของชาติ โดยที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ทำให้เกิดการตื่นตัวทางสังคมให้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง คือ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องประกาศทำสงครามกับยาเสพติด ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านความมั่นคง และด้านอื่น ๆ อย่างจริงจัง โดยในปัจจุบันพบว่ากลุ่มผู้ค้าผู้เสพมีจำนวนมาก และราคายาเสพติดก็ถูกลงกว่าสมัยก่อน ซึ่งในบางพื้นที่ราคาถูกกว่าอาหารตามสั่งเสียอีก บ่งชี้ถึงนัยยะที่สำคัญตามหลักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง Demand และ Supply คือ ถ้าสินค้าราคาถูก แสดงว่ามีสินค้านั้นจำนวนมาก ซึ่งจำนวนกลุ่มลูกค้าก็จะมากขึ้นตามลำดับเพราะเข้าถึงง่ายหาซื้อง่าย จากข้อมูลที่กรมการปกครองรายงาน มีคนที่ติดยาเสพติด จำนวน 120,000 คน และมีจำนวนผู้ค้า 18,000 คน ทำให้ประมาณการได้ว่าอัตราส่วนผู้ค้า 1 คน มีลูกค้ามากถึง 13 ราย ตัวเลขนี้เป็นการสำรวจที่ไม่ครบ 100% ความหมาย คือ ว่า ถ้าวิเคราะห์ตามตัวเลขที่เราได้มา อาจจะไม่เยอะแต่เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ฉะนั้นจึงต้องกลับมาทบทวนที่ระบบการบำบัดรักษาในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าระบบปัจจุบันมีปัญหา กล่าวคือ จากเหตุการณ์ผู้ป่วยยาเสพติดคลุมคลั่งส่วนใหญ่ ผ่านการบำบัดรักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง แสดงให้เห็นว่า ผลลัพธ์จากการส่งผู้ป่วยยาเสพติดไปบำบัดรักษามีปัญหา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนและแก้ไขในข้อบกพร่องเพื่อปรับระบบเสียใหม่ ดังนั้น ถ้าจะต้องวางแผนการลด Demand หรือจำนวน คนเสพกว่า 120,000 ราย ให้เข้าสู่การบำบัดเชิงคุณภาพ อย่างน้อยที่สุด 15 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะเลิกยาเสพติดได้ตั้งแต่อยู่ที่ศูนย์บำบัด ไม่ใช่ปล่อยให้กลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ตั้งแต่วันแรกที่มาพบแพทย์แล้วกลับบ้าน สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหารือกันให้ชัด คือ ถ้ารัฐบาลต้องการจะทำสงครามกับยาเสพติดอย่างจริงจัง จะต้องสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ให้ท่านนายอำเภอได้ไปดำเนินการ แต่ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้ใช้ความพยายามช่วยเหลือตนเอง ด้วยการขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแหล่งงบประมาณอื่น ๆ เพิ่มด้วยอีกทาง เพราะเชื่อว่าคนไทยและคนในพื้นที่ ทนเห็นปัญหายาเสพติดที่เป็นอยู่ไม่ได้และต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเร่งปราบปรามให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย นอกจากนี้ จังหวัด และอำเภอจะต้องหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงที่สุดภายใต้ข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ดังนั้น เรื่องที่ต้องรีบดำเนินการ คือ สร้างระบบกลไกโครงสร้างเชิงพื้นที่ มีสถานที่บำบัดรักษาที่เข้าถึงได้ง่ายและพร้อมดำเนินการ ซึ่งควรจะเพิ่มจำนวนให้ทุกอำเภอมีสถานบำบัดรักษา ให้พิจารณาระดมสรรพกำลังในการปรับปรุง ทำความสะอาด ปรับพื้นที่เพื่อรองรับ เช่นห้องน้ำห้องอาหารลานกิจกรรมห้องครัวห้องนอน หรือจะกางเต็นท์นอนแบบลูกเสือก็ได้ แต่ให้มีพื้นที่บริเวณรั้วรอบขอบชิด มี ทีมแพทย์ จิตแพทย์ เครือข่ายการฟื้นฟู กลุ่มวิทยากร ซึ่ง 1 ชุดครูฝึกอาจจะดูแลหลาย ศูนย์บำบัดรักษาก็ได้และหลักสูตรรายวิชา โครงสร้างกลไกขับเคลื่อนที่เป็นทางการมาจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชน ซึ่งจะต้องระบุเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อเป็นการรองรับหากได้รับงบประมาณจะได้เร่งดำเนินการในทันที ซึ่ง 120,000 คน เรา สามารถอบรมได้รุ่นละ 50,000 – 60,000 คน ซึ่งอาจจะอบรม ไม่เกิน 3 รุ่นก็ครบจำนวนทั้งหมดแล้ว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า วิชาชีพที่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาจะต้องไม่มีวิชาช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า หรือช่างซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพราะต้องไปเดินหางานอยู่ดี สิ่งที่ต้องสอน คือ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต้องสอนทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ให้เขารู้จักพึ่งพาตนเอง ปลูกพืชผักสวนครัว รู้จักเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงไส้เดือน และวิธีทำกับข้าว ทำขนม การทำถนอมอาหาร เช่น ที่บ้านเลี้ยงเป็ด 1 วัน ได้ไข่ 20 ฟอง ถ้ามีวิชาทำไข่เค็ม ไข่ตุ๋น ไข่เจียว เพิ่มและรู้จักปลูกผักสวนครัว ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แล้ว และภาครัฐหรือกลไกที่กล่าวไป ต้องหมั่นไปเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ ส่งเสริมสิ่งที่เขาทำว่าถูกต้อง เสริมความรู้ความยั่งยืนต่าง ๆ เช่น การทำถังขยะเปียกรถโลกร้อน การคัดแยกขยะ การทำปุ๋ยหมัก ไปพูดคุยแลกเปลี่ยน ไปให้กำลังใจ ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่าในสังคม ถึงแม้ไม่ได้งบประมาณก็ต้องทำ ส่วนต่อมาที่สำคัญอีกประการ คือ ฝ่ายปกครองและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาและเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสค้นหาผู้ค้าผู้เสพเพิ่มเติม ควบคู่กับการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษา และท้ายที่สุด จะต้องเร่งสื่อสารกับสังคมให้รู้ เพื่อให้เกิดความตระหนักและกระตุ้นให้สังคมรณรงค์ป้องกันภัยจากยาเสพติดนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทุกฝ่ายจะต้องเพิ่มระดับความเข้มข้น ทั้งในวงกว้าง ชุมชน สังคม อำเภอ จังหวัด และในวงแคบ สถาบันการศึกษา โรงงาน สถานประกอบการ สิ่งเหล่านี้ต้องทำควบคู่กันไป
“นอกจากนี้ กรมการปกครองกำลังเร่งถอดบทเรียนให้เป็นโมเดลศูนย์บำบัดฟื้นฟูที่วัดถ้ำกระบอก อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดหากมีความคืบหน้าแล้วจะได้รายงานให้ทราบต่อไป คำถามสำคัญที่สุด คือ เราจะปล่อยให้ปัญหายาเสพติดเกิดขึ้นต่อไป โดยไม่ทำอะไรทิ้งไว้เฉย ๆ ได้หรือ? คำตอบคือไม่ได้ เพราะเรามีจิตสำนึก มีจิตวิญญาณ มี Passion ในการ Change for Good เราจะต้องไม่ปล่อยให้สังคมมีปัญหา หรือทำให้คนในสังคมวุ่นวายไม่มีความสุข เพราะยาเสพติด เราปราบปรามอย่างจริงจัง ในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระบรมราโชบายที่ชัดเจนว่าต้องช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และคำพูดของเราที่บอกว่าเรา คือ ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะช่วยพิสูจน์ตัวเราเองว่า ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยมีคุณค่าเพียงใด ดังนั้น การทำให้ประเทศชาติของเรามีความมั่นคง และยั่งยืนในทุกมิติ คือ หมุดหมายที่กระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจจะสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดมรรคผลที่เป็นรูปธรรม” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้าย
#GlobalSoilPartnership #UNFAO #SEPtoSDGs #WorldSoilDay #วันดินโลก #soilswherefoodbegins #Soils4Nutrition #FAO #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 610/2565 วันที่ 9 ธ.ค. 65