เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 65 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่า จังหวัดตากได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับคุณค่าของทรัพยากรดิน เพื่ออนุรักษ์ รักษา เเละฟื้นฟูทรัพยากรดิน และกิจกรรม เอามื้อสามัคคี ปลูกพืชสมุนไพร ด้วยเเนวคิด 1 วัด 1 คลังยาสมุนไพร โดยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 65 ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และได้รับความเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นประธานในการจัดกิจกรรมขับเคลื่อน “World Soil Day อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน หรือ Soils, where food begins.” กิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ลงแขกเกี่ยวข้าว และเยี่ยมชมพืชผักสวนครัว และปลูกผัก สมุนไพร ต้นไม้ ณ แปลง โคก หนอง นา และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ประเภทราชการ ของที่ว่าการอำเภอวังเจ้า โดยมี นายเอกสิฏฐ์ วิไลศิลป์ นายอำเภอวังเจ้า เป็นผู้กล่าวรายงานการผลการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ พร้อมนำเสนอโครงการ “ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพุ่งเป้า ในระบบ TPMAP และผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนในระบบ ThaiQM อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)” พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดของจังหวัดตาก นายอำเภอทุกอำเภอ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต 1 และกำนันตำบลนาโบสถ์ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยฯ แพทย์ฯ สารวัตรกำนัน ประชาชนจิตอาสาตำบลนาโบสถ์ เข้าร่วมกิจกรรม รวมกว่า 300 คน ณ บริเวณแปลงนา แปลงผัก โคก หนอง นา ที่ว่าการอำเภอวังเจ้า อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก
.
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนภาคีเครือข่ายด้านการศาสนา นายกฤษณะ พินิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง นางสาวอรอุมา วรแสน รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานคัดเลือกอำเภอนำร่องฯ ได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและประเมินผลเชิงประจักษ์อำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ โครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพุ่งเป้า ในระบบ TPMAP และผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนในระบบ ThaiQM เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้มีการจัดแสดงรำวงมหาดไทย ณ ลานหน้าแปลง SEDZ ที่ว่าการอำเภอวังเจ้า และชมการแสดง TO BE NUMBER ONE (โรงเรียนวังเจ้าวิทยาคม) ณ ศูนย์ TO BE NUMBER ONE อำเภอวังเจ้า และมอบชุดลูกเสือ – เนตรนารี ให้แก่เด็กนักเรียนผู้ยากไร้ จำนวน 30 คน
รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า อำเภอวังเจ้าเป็น 1 ใน 10 อำเภอทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือกเป็นอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของอำเภอที่มีการนำกลไกการทำงานด้วยหลักการ 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคีเครือข่าย และหลักการ “บวร บรม ครบ” ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกับผู้นำทางด้านศาสนา สิ่งสำคัญ คือ การบูรณาการเเละการสร้างทีมของนายอำเภอ ต้องอาศัยความเป็นผู้นำในพื้นที่ (Leadership) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด ภาคเอกชน รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ มีพลวัตร สามารถขับเคลื่อนได้เอง เป็นการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เพราะการทำงานเป็นทีม (Teamwork) คือ หัวใจของความสำเร็จในทุก ๆ เรื่อง เเม้ไม่มีส่วนราชการเป็นผู้นำในการจุดประกาย เเต่โครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข นี้ จะเป็นพลังประกายไฟให้ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ลุกขึ้นมาปลุกพลังทางความคิด สร้างสรรค์ออกมาเป็นการกระทำ เพื่อนำมาใช้ในโครงการฯ นี้ สามารถระดมทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีในพื้นที่ ทั้งทุน ทรัพยากรคน การสร้างความร่วมมือ จนทำให้เห็นผลเชิงประจักษ์ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มากถือเป็นการ Change for Good ที่มุ่งเน้นพัฒนาคนให้คนไปพัฒนาพื้นที่อย่างเเท้จริง มีการอบรมเติมความรู้ขยายผลสร้างทีมผู้นำการขับเคลื่อนงานได้เกือบสองพันคน ซึ่งในปี 2566 นี้ กระทรวงมหาดไทยจะนำโมเดลความสำเร็จ จาก “อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทั้ง 10 อำเภอ เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ” และจะดำเนินการขยายผลทั่วทั้งประเทศ 76 จังหวัด 878 อำเภอ
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวต่อว่า อ.วังเจ้า มีเป้าหมายซ่อมแซมบ้านเรือนให้แก่ผู้ยากไร้ในพื้นที่ เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามข้อมูลจากระบบ TPMAP จำนวน 9 ครัวเรือน และระบบ ThaiQM จำนวน 48 ครัวเรือน รวมจำนวน 57 ครัวเรือน เเต่สามารถทำได้จริงรวม 70 ครัวเรือน โดยสำรวจครัวเรือนเพิ่มเติม 13 ครัวเรือน เป็นการดำเนินการโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งใช้งบประมาณจากภาครัฐ กว่า 400,000 บาท และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่อีกกว่า 2.6 ล้านบาท รวมกว่า 3 ล้านบาท นอกจากนี้ นายเอกสิฏฐ์ วิไลศิลป์ นายอำเภอวังเจ้าและภาคีเครือข่าย อ.วังเจ้า ยังได้ดำเนินกิจกรรมซึ่งมีหลายด้านในการบูรณาการงานตอบโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหาการขจัดความยากจนฯ ตามที่เสนอไว้แล้วนั้น ยังมีความมุ่งมั่นที่จะสานพลังขับเคลื่อนกิจกรรม “World Soil Day วันดินโลก : อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” อย่างต่อเนื่องเพื่อการอนุรักษ์ดิน และเพื่อเป็นการยกย่องและถวายราชสดุดีพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์และพระราชกรณีกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ที่ได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริ จำนวน 5,151 โครงการ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ดินที่ดีไปหล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ฯลฯ ให้เป็นอาหารที่ปลอดสารพิษ หรือสารเคมี อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งคนเลี้ยงเเละคนกิน
ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากการรณรงค์กิจกรรมวันดินโลก จังหวัดตาก โดย อำเภอวังเจ้าได้จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ร่วมกับนายเอกสิฏฐ์ วิไลศิลป์ นายอำเภอวังเจ้า “ปลูกพืชสมุนไพร” ตามโครงการ 1 วัด 1 คลังยาสมุนไพร ณ แปลงปลูกสมุนไพร สำนักสงฆ์เด่นเจริญ (วัดศักดิ์สิทธิ์) บ้านเด่นคา หมู่ที่ 5 ตำบลเชียงทอง โดยมีกิจกรรมปลูกพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดที่นำมาจากครัวเรือนในหมู่บ้าน ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า มาร่วมปลูกเพื่อขยายเป็นแหล่งคลังยาประจำหมู่บ้าน ตำบล อาทิ ตะไคร้ ข่า ขิง ขมิ้นชัน ใบเตย โดยมีปลัดอาวุโส ปลัดอำเภอ นางประพิศ โพธิราช กำนันตำบลเชียงทอง ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยฯ แพทย์สารวัตรกำนัน ประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ตำบลเชียงทอง เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน
นายเอกสิฏฐ์ วิไลศิลป์ นายอำเภอวังเจ้า กล่าวว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องขอขอบคุณนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยน อำเภอวังเจ้า และภาคีเครือข่ายทุกท่าน โดยโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการขิงกระทรวงมหาดไทย ได้ทำให้เกิดโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบบพุ่งเป้าในระบบ TPMAP และผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนในระบบ ThaiQM เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ประกอบด้วย การซ่อม-สร้างบ้านเทิดไท้องค์ราชัน, ชมกลุ่มทอผ้าบ้านเด่นวัว การ“เอามื้อสามัคคี” ลงแขกเกี่ยวข้าว ณ แปลง โคก หนอง นา ที่ว่าการอำเภอวังเจ้า (บริเวณด้านหน้าหอประชุม อ.วังเจ้า) การบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่าไม้ ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ของนายภานุวัฒน์ บันลือ (เพรียว) ณ พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ประเภทเอกชนของอำเภอวังเจ้า ไร่ชาววัง หมู่ที่ 14 ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก และการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยพลังงานทดแทน เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่สูง แบบโครงการหลวงผาผึ้ง – ศรีคีรีรักษ์ ของ อบต.เชียงทอง (ได้รับรางวัลการ บริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ดีเด่น) โดยนายสุชาติ โพธิราช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงทอง และนายจักรกฤษ์ สุขเกษม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงทอง ณ ตลาดชาติพันธุ์ หมู่ที่ 2 บ้านสบยม ตำบลเชียงทอง นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพาคณะฯ เยี่ยมชมแปลงโคก หนอง นา ปี 2564 (นายอนุรักษ์ ภูครองทอง) บ้านทุ่งกง หมู่ที่ 1 ตำบลประดาง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก และร่วมกิจกรรม นาโยน/ปลูกผักหลุมพอเพียง รวมถึงเยี่ยมบ้านผู้ยากไร้ ในระบบ ThaiQM (นายมงคล ภูครองหิน) ที่ได้รับการสร้างใหม่ทั้งหลัง บ้านทุ่งกง หมู่ที่ 1 ตำบลประดาง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก และชมแปลงเศรษฐกิจพอเพียง ของนายมงคลฯ พร้อมฟังบรรยายสด การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อชุมชน พลังบวรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ สำนักสงฆ์เด่นเจริญ (วัดศักดิ์สิทธิ์) บ้านเด่นคา หมู่ที่ 5 ตำบลเชียงทอง ซึ่งเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อชุมชนโดยพระอาจารย์ใบฎีกา สมศักดิ์ ธีระวังโส เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์เด่นเจริญ (วัดศักดิ์สิทธิ์) และโดยพระปลัดดอกดิน นริสฺสโร เจ้าคณะตำบลเชียงทอง ที่เป็นตัวอย่างของงานสาธารณสงเคราะห์ ตามหลักพลัง “บวร” อีกด้วย
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงภายในที่จะสามารถก่อให้เกิดความยั่งยืนได้ในระดับชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีกิน มีใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ซึ่งสามารถรับชมวิดีทัศน์สรุปกิจกรรม ได้ที่ลิงค์ https://youtu.be/_xt1etkX3sE ที่มีการสรุปกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดการขยะโดยใช้หลักการ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน หรือการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” เพื่อสร้างเเหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้เเก่พื้นที่ เพราะภายในโคก หนอง นา มีทั้งหนองน้ำ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พื้นที่นาข้าว มีนก มีเเมลง มีไส้เดือน มีปลา มีจุลชีพต่าง ๆ ที่คอยรักษาความสมดุลอีกด้วย เป็นการสนองเเนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์แน่วแน่ “ทำให้ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในเชิงประจักษ์ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นจากจะเล็ก ๆ เเละจะขยายผลไปทุกพื้นที่ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดเเละนายอำเภอรวมถึงภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย อันจะเป็นการทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ และเป็น Momentum for Change อย่างเเท้จริง
#วันดินโลก #soilswherefoodbegins #Soils4Nurition #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.
ครั้งที่ 662/2565 วันที่ 25 ธ.ค. 65