เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 66 นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สู่การขับเคลื่อน “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวาระทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)/คณะกรรมการกลางของหมู่บ้านอาสาพัฒนา และป้องกันตนเอง (อพป./คณะกรรมการชุมชน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาชน บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) เกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถทำให้พี่น้องประชาชนได้สร้างเศรษฐกิจจากฐานรากอย่างยังยืน
“เมื่อวานนี้ (27 ก.พ. 66) ในการประชุมคณะกรมการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 2/2566 ที่ห้องประชุมพระพุทธชินราช ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบยกระดับนโยบายสำคัญและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ให้เป็นวาระสำคัญของจังหวัดพิษณุโลก พร้อมทั้งมีมติให้ดำเนินการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็ง ตำบลละ 1 หมู่บ้าน (หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านเข้มแข็ง) รวม 92 หมู่บ้าน 1 ชุมชน เป็นแบบอย่างในการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา ในการพัฒนาหมู่บ้านข้างเคียงและหมู่บ้านอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกในหมู่บ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ” ผวจ.พิษณุโลก กล่าวเน้นย้ำ
นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดพิษณุโลกได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โดยจะขยายผลอีก 864 หมู่บ้าน 62 ชุมชน ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน รวม 1,048 หมู่บ้าน 64 ชุมชน ซึ่งจะได้มีการประเมินความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน (Gross Village Happiness : GVH) และประเมินศักยภาพการพัฒนาหมู่บ้านตามตัวชี้วัด ก่อนการดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืนตามโครงการฯ เพื่อใช้ในการติดตามประเมินผล และคณะทำงานติดตามประเมินผลฯ จังหวัดพิษณุโลก จะใช้การประเมิน GVH และศักยภาพการพัฒนาหมู่บ้าน เป็นตัวชี้วัดในการติดตามประเมินผลระหว่างดำเนินการ และหลังการขับเคลื่อนพัฒนาหมู่บ้านด้วย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 194/2566 วันที่ 28 ก.พ. 2566