วันนี้ (29 มี.ค. 66) นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย เปิดเผยว่า แม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลยนำสมาชิกลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสูบ ณ ตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย เพื่อร่วมอนุรักษ์ เผยแพร่ผ้าไทย ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยและแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลยได้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นในการช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ท่าน ให้มีอาชีพ มีรายได้ โดยอาศัยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในท้องถิ่นของตนเอง อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดกระแสนิยมการสวมใส่ชุดผ้าไทย จึงเป็นที่มาของพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะในด้านงานหัตถศิลป์หัตถกรรม อาชีพช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย ให้สามารถพัฒนารูปแบบการย้อมผ้า ถักทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า ให้มีความทันสมัยตามแฟชั่นนิยม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนผู้บริโภคในปัจจุบัน ด้วยการออกแบบลวดลายต่อยอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ จากลายดั้งเดิมให้เป็นลายที่มีสีสันและรูปลักษณ์หลากหลายที่มีความทันสมัย โดยพระราชทานลายผ้าเพื่อให้ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิคทั่วประเทศ อาทิ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้จัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทย นำไปมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย นำไปสร้างสรรค์ชิ้นงานเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งจังหวัดเลย โดยนายนายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด 30 หน่วยงาน นายอำเภอ 14 อำเภอ และกลุ่มทอผ้าจังหวัดเลย 56 กลุ่มไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย กล่าวต่ออีกว่า กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสูบ หมู่ที่ 4 ได้สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าลายขิดมุกโบราณ ลายดอกพิกุลโบราณ ลายจุ้มตีนหมา โดยมีนางชู บุตรปัสสา ประธานกลุ่มฯ เล่าว่าได้สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากอาณาจักรล้านช้าง ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้า ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 โดยความยากของการทอผ้าลายขิดมุกโบราณนั้นต้องใช้สมาธิ และประสาทสัมผัสกว่าจะมาเป็นผืนผ้า จำนวน 42 ตะกอ จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าซึ่งต้องช่วยกันอนุรักษ์สืบสาน รักษาไว้ให้คงอยู่กับเมืองเลยและประเทศไทยตลอดไป โดยมีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้มรดกและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อยอด ขยายผล การทอผ้า การย้อมสีครามธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจงานศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับลายผ้าโบราณของจังหวัดเลย
นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการอนุรักษ์ลายผ้าโบราณแล้ว กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสูบยังได้น้อมนำลายผ้าพระราชทานต่าง ๆ มาประยุกต์ให้ลวดลายผ้ามีความทันสมัยขึ้น มีเทคนิคการย้อมผ้าที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติให้มีเฉดสีแตกต่างขึ้น โดยเกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มทอผ้าอื่น ๆ รวมทั้งนำผ้าทอมาผลิตเป็นกระเป๋าแฟชั่น พวงกุญแจ และสินค้าอื่นๆ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย แม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะได้ต่อยอดให้ “ผ้าซิ่นเมืองเลย” ไปได้ไกล ไปได้ทั่วถึง สู่แฟชั่นผ้าไทยแห่งความยั่งยืน (Sustainable Fashion) ตามพระดำริฯ โดยส่งเสริมกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ให้สีธรรมชาติ ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เพื่อนำมาผลิต นำมาถักทอผ้า เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน อนุรักษ์และสืบสานต่อยอดวัฒนธรรมที่ดีงามของบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อแม่สู่ลูกหลาน ยกระดับคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด ไม่เกิดการอพยพแรงงาน สังคมมีความรักใคร่สามัคคี สร้างความสุขให้กับครอบครัวชุมชน เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นพลังให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ที่แท้จริง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 303/2566 วันที่ 29 มี.ค. 2566