วันนี้ (19 ก.ย. 66) เวลา 9.00 น. ที่ห้อง War room ชั้น 2 กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเจาะลึก SDG (Deep Drive SDG) ร่วมกับนาย เรโน เมแย (Mr.Renaud Meyer) ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme : UNDP) ร่วมทำความเข้าใจประเด็นหลักการและวิธีนำไปใช้ของ SDGs แลกเปลี่ยนมุมมองและแบ่งปันความคิดกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ที่ปรึกษาด้านปกครอง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัดทุกจังหวัด/หัวหน้าสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานระดับกอง/สำนัก/ศูนย์/สถาบันสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้เข้าร่วมการประชุมในส่วนที่จังหวัดร่วมเชิญ และผู้สนใจในส่วนที่ UNDP เชิญ ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมกับการทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะการได้เป็นส่วนหนึ่งในการปลุกเร้า “Passion” ของคนมหาดไทย ที่ได้ขับเคลื่อนนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 17 Goals) พร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งการทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme : UNDP) เรามีเป้าหมายในการร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ (Localization) เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสที่จะฉุกคิดและช่วยกันในการที่จะทำให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือ การเป็นหุ้นส่วน (Partnership) นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ เพื่อให้ทุกท่านได้มั่นใจว่าเราจะทำให้มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ได้ใช้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเรามีงานตามภารกิจ (Function) การทำงานที่สำคัญ คือ การ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
“รูปแบบของการทำงานของกระทรวงมหาดไทยในการนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ เราไม่ใช่เป็นคนทำให้ แต่ “เราจะเป็นหุ้นส่วน (Partnership)” ที่จะไปช่วยสนับสนุนทำให้เกิดการรวมกลุ่ม รวมพลัง และลงมือทำด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การที่พี่น้องประชาชนทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการลงมือทำด้วยกัน ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นปลุกเร้า เสริมสร้างสัมพันธ์เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นั้น กระทรวงมหาดไทยนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกันลงนามบันทึกสัญญา (MOU) ภายใต้แนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน” โลกนี้เพื่อเรา ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยมีหุ้นส่วนทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งเราได้ขับเคลื่อนโครงการจังหวัดบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน นำนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปร่วมกับพี่น้องประชาชนเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า คำว่า “บูรณาการอย่างยั่งยืน” คือ การบูรณาการ “คน” โดยการสร้างทีมให้เกิดการรวมกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง พร้อมกับการสร้างทีมจิตอาสาที่เป็นผู้ช่วยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด คือ ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และบูรณาการ “งาน” โดยการนำเอางานทุกงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมงานทุกงานของทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึง UN เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การสร้างความมั่นคงในเครื่องนุ่งห่ม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการคัดแยกขยะครัวเรือน จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ขับเคลื่อนให้ทุกครัวเรือนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ
“ขอขอบคุณคุณกีต้าร์ ซับบระวาล (Mr.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ที่ทำให้พวกเรากระทรวงมหาดไทยและทุกจังหวัดได้มีความภาคภูมิใจในการนำเสนอ ในเวที SDGs Summit 2023 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งท่านได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศ โดยกล่าวชื่นชมกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะเรื่องการคัดแยกขยะในประเทศไทย 14 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ได้ถึง 550,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการรับรองการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ใน 4 จังหวัด นำร่อง เป็นเงินจำนวน 21,000 บาท ที่ถูกซื้อโดยธนาคารเอกชนของประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นและก้าวสำคัญที่ UN และกระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และขยายผลไปพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งพวกเราชาวมหาดไทยขอยืนยันว่าเราทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็น Partnership ที่ดีต่อไปและเรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งว่า 14 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย เป็นพลเมืองดีของโลกที่จะช่วยให้โลกของเรานั้นได้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ UNDP ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับ SDGs เพื่อทำความเข้าใจในกรอบและความสำคัญของเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทางสากล ตลอดจนการประยุกต์และเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับชีวิตประจำวันให้มีความชัดเจน เป็นที่เข้าใจลึกซึ้งเพิ่มมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ให้ลูกหลานเยาวชนคนไทยที่จะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ จะได้เป็นทายาทของคนในชาติที่มีคุณค่าสำคัญ และเป็นทายาทของโลกที่เป็นผู้ที่มีความรักและหวงแหนโลกใบเดียวที่สวยงามนี้ของเรา ให้ดำรงคงอยู่เป็นโลกของมวลมนุษยชาติในอนาคตด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน ขอให้ทุกท่านใช้เวลาอันมีค่านี้เก็บเกี่ยวเอาความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และหวังว่าพวกเราจะไปดำเนินการลงมือทำในทันที เพราะเราไม่มีเวลาสำหรับการผัดผ่อน เราต้อง “Action Now” เพื่อนำพาประเทศไทยและโลกของเราให้อยู่คู่กับลูกหลานอย่างยั่งยืน
Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวว่า นับเป็นความน่ายินดีที่ UNDP และกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันมาตลอด ซึ่งโครงการอบรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม ผลการดำเนินงานของประเทศต่าง ๆ ซึ่งในวันนี้เราได้เรียนเชิญวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อมาพูดคุยและสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเด็นที่ 1) จะเป็นกรอบของการทำงานของโลกที่พูดถึงหลักการความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การมีอากาศหายใจ ซึ่งเป็นการนำพาความต้องการของทุกคน เพื่อมาพูดคุยหารือทำความเข้าใจในวาระตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเด็นที่ 2) เนื่องจากความซับซ้อนและความเร่งด่วนของปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีความหลากหลายในระดับพื้นที่ เราจึงต้องมีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความซับซ้อน โดยกลไกของกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นการอบรมในวันนี้ก็จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงระบบโดยใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายเป็นเครื่องมือมากยิ่งขึ้น ประเด็นที่ 3) จากการทำงานของทาง UNDP ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งได้เห็นการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะ การรักษาความสะอาด การจัดการน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง หรือการจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมารายงานเป็นข้อมูลในการประเมินวัดผล รวมไปถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ และผลการดำเนินการ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างจังหวัดและองค์กรได้ และ ประการที่ 4) สิ่งสำคัญในการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้แต่ละภาคส่วนดำเนินการผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยตนเองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกัน โดยมี SDG 17 เป้าหมาย เป็นกรอบในการดำเนินการ เพื่อนำไปประยุกต์ปรับใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้จังหวัดอย่างยั่งยืน
“ขอขอบคุณปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยทุกท่าน รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครที่ทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญในการที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศผู้นำของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ไปสู่ระดับโลก ซึ่งความมุ่งมั่นของทุกท่านจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย” Mr. Renaud Meyer กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 875/2566 วันที่ 19 ก.ย. 2566