วันนี้ (24 พ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ในขณะนี้หลายพื้นที่ยังคงประสบกับสถานการณ์ของโรคดังกล่าว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตของประชาชน อันถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และส่งเสริมให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขท่ามกลางพลวัตความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จึงเป็นที่มาของการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยการส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้ไว้กับคนไทยทุกคน ทำให้คนไทยสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยหลักการพึ่งพาตนเอง ที่ถือเป็น “ศาสตร์พระราชาอันล้ำค่าที่จะสร้างคุณค่าของชีวิตผู้คนให้มีความยั่งยืน”
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงตัวอย่างแปลงโคก หนอง นา ณ ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา ตามศาสตร์ของพระราชา แปลงคุณจุ๋ม – รัชนิศ ศิริรักษ์ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 179 หมู่ 3 ตำบลหนองเสม็ด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด นักธุรกิจศูนย์ซ่อมรถยนต์มาตรฐานกลางเมืองตราด ผู้มีจิตใจที่รุกรบ มีความปรารถนา (Passion) อันแรงกล้า ในการเสริมสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมผ่านการนำที่ดินส่วนตัวมาแปลงเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ โดยได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564 และแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 ซึ่งภายหลังจากการปรับปรุงพื้นที่แล้ว ได้นำแนวทางตามศาสตร์พระราชา ทั้งทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง “พอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน” หลักกสิกรรมธรรมชาติ ป่า 5 ระดับ ฯลฯ มาประยุกต์ ปรับ แปลง เปลี่ยน ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ จนกระทั่งผ่านไป 1 ปีเศษ ในวันนี้ ผลผลิตแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจ ผลลัพธ์แห่งความทุ่มเท กลายเป็น “ผลสำเร็จแห่งความยั่งยืน” คือ “ศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่รูปแบบประยุกต์ นั่นเอง
คุณรัชนิศ ศิริรักษ์ หรือ “คุณจุ๋ม” เจ้าของแปลงศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา ตามศาสตร์ของพระราชา เล่าว่า ตนและครอบครัวก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งในช่วงเวลานั้น การประกอบธุรกิจก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้ได้มีเวลามานั่งฉุกคิดว่า ในยามเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ไม่ใช่กระทบแค่สังคมไทย แต่เป็นโรคระบาดที่ส่งผลในวงกว้างทั่วโลก ครอบครัวเราซึ่งเป็นนักธุรกิจจึงมีเวลาที่ได้อยู่ร่วมกัน มีเวลาที่ได้มานั่งทบทวนร่วมกันว่า ในชั่วโมงแบบนี้จะทำอะไรกันดี เพื่อเป็นการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ซึ่งครอบครัวก็มีที่ดินแปลงหนึ่งในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลหนองเสม็ด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด และได้รับรู้รับทราบจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองตราดว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา จึงได้ตกลงร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัว จัดสรรพื้นที่ จำนวน 3 ไร่ เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งจากตอนแรก เราเข้าไปโดยไม่มีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับดิน เกี่ยวกับพืชพันธุ์ไม้ หรือทฤษฎีการพัฒนาบำรุงดินใดใดเลย หลังจากได้รับการอบรม ก็กลับมาเรียนรู้ มาปรับเปลี่ยน ทำในพื้นที่ของเราเอง เพราะหลักการแรกของการทำโคก หนอง นา คือ ทำในสิ่งที่ดีที่เรามีอยู่แล้ว มาทบทวน มาเรียนรู้ มาปรับเปลี่ยนหลายอย่างมาก จนกลายเป็นรูปแบบโคก หนอง นา ทั้งรูปร่าง สัดส่วนแปลง ที่สะท้อนความหมาย และสุดท้ายทำให้ได้รู้ว่าโคก หนอง นา “มันดีมาก ๆ สำหรับชีวิต” ที่เวลาหนึ่งเราก็ต้องทำอาชีพหลักหาเงินเลี้ยงชีพและครอบครัว แต่โคก หนอง นา นั้น ทำให้ได้รับรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของชีวิต คือ “มันดีกว่าเดิม ก่อให้เกิดประโยชน์ และแก้ปัญหาอะไรได้แทบทุกเรื่อง ทำแล้วได้ประโยชน์กับตัวเรา ด้วยการที่ตัวเราได้ทำสิ่งที่ดี ได้นำสิ่งที่เรามี ขยับขยายไปสร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น ให้กับสังคมไทย เพื่อความหมายและทางรอดของชีวิต” มันคุ้มค่ามากที่สุดจริง ๆ
“สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำโคก หนอง นา คือ คุณค่าของชีวิตในทางความอยู่รอด ผ่านศาสตร์พระราชาที่ทรงคุณค่าและความหมายต่อโลกใบเดียวนี้ นั่นคือ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทฤษฎีใหม่ที่มากกว่า 40 ทฤษฎี” ที่ทำให้ในภาวะที่เราไม่เคยรู้มาก่อนหรือตระเตรียมมาก่อนว่าโลกใบนี้จะเกิดอะไรขึ้น จากที่เราไม่เคยปลูกแตงกวา ถั่วฝักยาว เราก็มาลองทำดู มาเรียนรู้พื้นที่ของเราเองว่า ดินแบบนี้ปลูกไม่ได้ ต้องมาปรับปรุงดิน เตรียมพื้นที่ดิน หลายอย่างมาก ได้เรียนรู้อะไร ๆ แบบนี้ เรามีที่ดิน 14 ไร่ แบ่งพื้นที่มา 3 ไร่ เพื่อทำโคก หนอง นา เราทำเต็มพื้นที่ โดยได้แบ่งเป็นสัดส่วนเป็นผลไม้สวนผสม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด มีไม้ป่า ไม้ประดู่ป่า ต้นนนทรี เรามีไม้ใหญ่อยู่แล้วในพื้นที่ และมาปรับส่วนเป็นโคก หนอง นา ทำคลองไส้ไก่ ทำสระน้ำเพิ่ม ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม สอดคล้องกับธรรมชาติ สูง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน ในเวลา 1 ปีเราพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเราเอง ด้วยทีมงานพนักงานของบริษัทเราเอง ช่วยกันปลูกพริก มะเขือ มะเขือยาว มะเขือกรอบ กวางตุ้ง คะน้า ไชเท้า ผักบุ้ง ปลูกสมุนไพร พวกฟ้าทะลายโจร ขิง ข่า ว่านหางจระเข้ ซึ่งจากการปลูกต้นไม้นี่เอง ทำให้ได้รู้เพิ่มอีกว่า พืชแต่ละชนิดจะมีช่วงเวลา ช่วงอายุของมัน บางต้นในช่วงแล้งก็จะตาย พอได้ฝนมันก็จะแตกขึ้นมาใหม่ พืชพันธุ์ทุกชนิดไม่สูญหายไปไหน แต่จะมีพืชมาทดแทนในช่วงเวลาและอากาศที่เหมาะสมของแต่ละชนิด หรือเรียกว่า พืชเลี้ยงตัวเอง ดินเลี้ยงพืช อากาศเลี้ยงพืช โดยสำหรับในบริเวณหนองน้ำในพื้นที่นั้น ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาจากสำนักงานประมงจังหวัดตราด โดยการประสานงานของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตราด พร้อมทั้งได้เชิญชวนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชนในพื้นที่ มาร่วมกันทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ปล่อยพันธุ์ปลา เพาะปลูกพันธุ์ผัก โดยไม่ได้ขาดตอนเลย สิ่งเหล่านี้ทำให้เรายิ่งรู้สึกว่า เราคิดถูกแล้วที่ได้ใช้พื้นที่ 3 ไร่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข พื้นที่แห่งความสามัคคี พื้นที่แห่งความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความรักที่ยั่งยืน” คุณรัชนิศ ฯ กล่าวด้วยความตื้นตันใจ
คุณรัชนิศ ศิริรักษ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นการนำแนวคิดทฤษฎีมาปรับใช้ นั่นคือ สัดส่วนของ “นา” ในบริเวณแปลง โดยเราพบว่า ดินบริเวณนี้เป็นดินเหนียวปนทราย เมื่อเราลองปลูกพืชไร่ ปลูกข้าวไม่ได้ผลผลิตใดใดเลย เพราะดินไม่เหมือนกับดินในที่ลุ่มทางภาคกลาง เราจึงได้ปรับเปลี่ยนประเภทของพืช ให้เป็นพืชจำพวกคลุมดิน เช่น ถั่วบราซิล และพืชตระกูลถั่วชนิดต่าง ๆ เพื่อป้องกันดินสไลด์ ดินถล่ม และผลลัพธ์ก็ทำให้ได้พบว่า ได้ผลเป็นอย่างมาก ดังนั้น โคก หนอง นา จึงไม่ใช่การนำพื้นที่มาใช้ในการทำนาเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องดูบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ว่าเป็นพื้นที่ที่ที่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดใดในสัดส่วนพื้นที่เฉกเช่นเดียวกับทุ่งนา ถ้าพื้นที่ทำนาไม่ได้ เราต้องหาพืชตัวอื่นมาทดแทน เราดูว่าพื้นที่ของเรามีปัญหาอะไรแล้วหาต้นไม้มาช่วยปกคลุมหรือเอามาให้พืชแต่ละชนิดเขาอยู่อาศัยกันได้ เช่น ถ้าต้นไม้ต้องการแดดเอาไปใต้ร่มก็ไม่ได้ จะตายหมด จึงต้องหาไม้พวกรำไรหรือพันธุ์ที่ทนแดดทนแล้งมาได้ ในสภาพอากาศที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เอลนีโญที่ทำให้อากาศร้อนขึ้น ๆ ทุกวันนี้
“เพราะ “โคกหนองนา” ไม่จำเป็นต้องเป็นนา มันไม่ใช่ตรงนั้น เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ พื้นที่แต่ละที่ในแต่ละส่วนมันไม่ใช่ว่าต้องกำหนดหรือกำกับลงไปว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพียงแต่ว่าส่วนที่เรามี เราเป็น เราต้องเอาอะไรมาปลูกด้วยเหตุและผลในพื้นที่ตรงนั้นที่จะอยู่กันได้ อาศัยกันได้ และได้ผล ก็โอเคแล้ว และสำหรับการพัฒนาในขั้นต่อไป ที่พบเห็นว่ามีความสวยงามทางภูมิทัศน์ สบายตา และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจนั้น เกิดจากแนวคิดที่เราพยายามทำเพื่อมองเป้าหมายไปให้เห็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม คือ 1) ในเรื่องอากาศ โดยอาศัยว่าเรามีต้นไม้ใหญ่เป็นต้นทุนเดิมของเรา และ 2) ได้สิ่งดี ๆ อากาศดี ๆ ซึ่งในอนาคต เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นกำไรของผู้ที่มาเยี่ยมเยือน ให้ได้รับความรู้สึกดี ๆ ได้สิ่งดี ๆ ไป หรือแม้แต่คนที่มาดูงาน มาศึกษา อยากให้เขาได้สิ่งดี ๆ เหล่านี้ไป เพื่อไปคิดริเริ่ม ต่อยอดพัฒนาสิ่งที่อยู่ที่บ้าน ที่ครอบครัวของเขา หรือหากมีพื้นที่อยู่แล้ว ก็ไปปรับเปลี่ยนว่าอย่างนี้ก็ได้นะ มันโอเคนะ และมันได้เห็นอะไร ๆ ที่เป็นผลลัพธ์ชัดเจน ซึ่ง “โคก หนอง นา ไม่ต้องลงทุนเยอะมากมายอย่างที่คิด” เราทำแค่สิ่งที่มันจะได้ ทำสิ่งที่มีอยู่ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน ได้ประโยชน์ ได้มีการเปลี่ยนแปลง ได้มองเห็นได้คุณค่าที่มองเห็นได้คุณค่าชีวิต ได้สิ่งที่ดีขึ้น” คุณรัชนิศ ฯ กล่าวเพิ่มเติม
คุณรัชนิศ ศิริรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา ตามศาสตร์ของพระราชาแห่งนี้ มีความมุ่งมั่นที่พยายามทำให้คนอื่นได้รับรู้ถึงวัตถุประสงค์ของการทำโคก หนอง นา พยายามทำให้เห็นผลลัพธ์ว่า ทำแล้วได้อะไร ได้มากกว่าที่คิด และในทุกวันนี้ ตนเองพร้อมครอบครัวยังคงแบ่งเวลาไปร่วมกับทีมงานลูกน้องในบริษัท ทดลองปลูกพืชผักสมุนไพร พืชผักสวนครัว เพราะส่วนหนึ่งได้ปลูกฝังจิตใจของเขา ให้เขาไปปลูกผักกินเองในบ้าน ได้มีความปลอดภัยในการบริโภคพืชผัก เกิดสิ่งดี ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังเพิ่มคุณค่าให้กับพื้นที่ด้วย เรียกว่า ได้กับได้ ไม่มีส่วนที่เสียเลย และในท้ายที่สุด ถ้าเราเข้าใจแต่ไม่ลงมือทำ หรือถ้าเรารู้แต่ทฤษฎีแล้วไม่ทำจริง เราจะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง แล้วจะไม่สามารถไปอธิบายให้คนอื่นได้รู้ได้เข้าใจเลย บางคนบอกใช้เงินเยอะ เราขอยืนยันว่า “ไม่ใช่” เพราะรายได้ทุกคนหาได้จากอาชีพหลักที่ประกอบสัมมาอาชีพ แต่เราเอาส่วนหนึ่ง เอาเงินเก็บ หรือเงินที่เป็นผลกำไรส่วนหนึ่งมาทำในสิ่งที่จะได้ประโยชน์มากขึ้น อย่าไปคิดว่าโคก หนอง นา คือการเจตนาหาเงินเอาเงินมาลงทุน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเข้าชม เข้าศึกษาดูงาน ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา ตามศาสตร์ของพระราชา แปลงคุณรัชนิศ ศิริรักษ์ เลขที่ 179 หมู่ 3 ตำบลหนองเสม็ด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 08-1940-6024 หรือค้นหาทางไลน์ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-7616-3233 เป็นการล่วงหน้าได้ทุกวัน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 468/2566 วันที่ 24 พ.ค. 2566